ถอดบทเรียน ‘ก้าวไกล-ด้อมส้ม’ พลาดเกมใน พ่ายทั้งกระดาน

ถอดบทเรียน ‘ก้าวไกล-ด้อมส้ม’ พลาดเกมใน พ่ายทั้งกระดาน

ข้อผิดพลาด จากภายในของก้าวไกลเอง ที่มีทั้งจุดอ่อน เกมรุก เกมถอย ที่นำมาใช้ รับมือมิตรเทียม ศัตรูแท้ ไม่ได้ ย่อมเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ก้าวไกลได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ในทุกย่างก้าวทางการเมือง จนกว่าจะถึงศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ท้าทายยิ่งกว่าเดิม

หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดดเด่นจนมั่นใจว่าจะสามารถคุมเกมการเมือง คุมเสียง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียงไม่ให้แตกแถว พร้อมเปิดเจรจา 250 สว. เพื่อเติมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

ความฝันที่จะตั้งรัฐบาลก้าวไกล กลับมีอันต้องสะดุด ด้วยเงื่อนไขการโหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยต้องได้มากว่า 376 เสียงขึ้นไป จากจำนวน สส.-สว. 750 เสียง แต่ “พิธา” ได้ 324 เสียง (สส. 331 เสียง สว. 13 เสียง) ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง เท่ากับว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี

แถมยังมาเจอด่านสกัด ยกข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 41 หากญัตติใด โหวตตกไปแล้ว ไม่สามารถนำมาพิจารณาในสมัยประชุมเดียวกันได้ ส่งผลให้ชื่อ “พิธา” ถูกตีตกไปโดยปริยาย

ที่สำคัญพรรคก้าวไกล เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงคนเดียว ทำให้ไม่มีเบอร์ถัดไปเข้าชิงเก้าอี้ผู้นำต่อ แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย ส่งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน เผื่อเหลือเผื่อขาด สามารถเปลี่ยนเกมเล่นได้ตลอดเวลา

มิหนำซ้ำ พิธา แคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรค ยังเปิดจุดอ่อนเรื่องถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ให้ถูกเล่นงานซ้ำรอย“ธนาธร” ราวกับหนังม้วนเดียวกัน 

ก่อนการเลือกตั้งพรรคก้าวไกล ไม่คาดคิดว่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง จึงเทหน้าตักทั้งหมดไปที่ “พิธา”เพียงคนเดียว ส่งผลให้เครือข่ายอำนาจเก่า สกัดผู้นำได้เพียงคนเดียว ก็ทำให้พรรคก้าวไกลเสียทั้งกระบวน
 

  • เสียเก้าอี้‘ประธานสภาฯ’จุดเริ่มพ่ายศึก

ภายหลังขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) โดยพรรคก้าวไกลยอมถอยไม่บรรจุการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดคดีการเมืองไว้ในเอ็มโอยู

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความส่งสัญญาณทันทีว่า พรรคก้าวไกลต้องไม่ถอยเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” เพื่อคุมเกมทางการเมืองเอาไว้ให้ได้

แต่พรรคก้าวไกล โดนลูกเก๋าของพรรคเพื่อไทย เซ็ตเกมให้ “ลูกพรรค” ออกมาตีโพยตีพาย กวนน้ำให้ขุ่น สร้างแรงกดดันไปยังทีมเจรจาของพรรคเพื่อไทย จนมีมติ สส. แข็งข้อไม่โหวตให้ “ประธานสภาฯ” ของพรรคก้าวไกล

จนท้ายสุดเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ไปตกอยู่ในมือตาอยู่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ ส่วน “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ของก้าวไกล ได้นั่งเก้าอี้รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ซึ่งอำนาจระหว่าง “ประธานสภาฯ” กับ “รองประธานสภาฯ” ต่างกันลิบลับ

เพราะหากพรรคก้าวไกล ออกแรงสู้กับพรรคเพื่อไทย และสามารถผลักดัน “ปดิพัทธ์” นั่งประธานสภาฯสำเร็จ อาจมีการใช้อำนาจ “ประธานสภาฯ” วินิจฉัยโหวต “พิธา” รอบสอง และรอบต่อไปได้ โดยไม่ยอมจำนนกับเสียงข้างมากที่ให้ยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41

กลับกันเมื่อประธานสภาฯเป็น “วันนอร์” พรรคก้าวไกลไม่สามารถคอนโทรลเกมได้ทั้งหมด แม้  ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล จะจับเข่าคุยกับ “วันนอร์” หลายชั่วโมงถึงแนวทางการทำงาน ก่อนจะถึงวันโหวตเก้าอี้ประธานสภาฯ

แต่ “วันนอร์” ในยี่ห้อพรรคประชาชาติ ไม่ต่างจากพรรคสาขาของเพื่อไทย เพราะหากใช้แบรนด์พรรคทักษิณ ย่อมไม่ตอบโจทย์ฐานเสียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “วันนอร์” จึงตั้งพรรคประชาชาติมาสู้ ซึ่งใช้ทุนจากแหล่งใด คนการเมืองรู้กันดี

เมื่อพรรคก้าวไกลยอมถอยเก้าอี้ประธานสภาฯ จึงเป็นจุดเริ่มของการพ่ายศึกโหวตชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จนลามทั้งกระดาน
 

  • ด้อมส้มจุดไม่ติด ไร้แรงกดดัน

นอกเกมการเมือง เกมสภาแล้ว พรรคก้าวไกลยังแพ้เกม “มวลชน” ซึ่งไม่สามารถจุดกระแสให้ออกมาแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ เพื่อกดดันพรรคเพื่อไทย กดดันเครือข่ายอำนาจเก่าได้มากพอ ทำให้พรรคก้าวไกลโดนไล่ต้อนจนมุม

ต้องยอมรับว่า “มวลชน” ในโซเชียลมีเดียของพรรคก้าวไกล มีจำนวนมากก็จริง แต่ “มวลชน” ที่จะสามารถสร้างแรงกดดันทางการเมืองมักมาจากมวลชนที่รวมตัวกันชุมนุมบนท้องถนน

ทว่าจำนวน “มวลชน” ในวันที่ 13 ก.ค. โหวต “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรอบแรก มีร่อยหรอ แถมส่วนใหญ่เป็น “คนเสื้อแดงเก่า” ที่แปลงมาร่วมอุดมการณ์กับพรรคก้าวไกล “คนหนุ่มสาว” ที่พรรคก้าวไกลคาดว่าจะแสดงพลังแทบไม่เห็น

เช่นเดียวกับวันที่ 19 ก.ค. พรรคก้าวไกลคาดหวังให้ “มวลชน” ช่วยกดดันให้ที่ประชุมรัฐสภา โหวต “พิธา” รอบสอง ลงทุนปลุกมวลชนผ่านเพจพรรคก้าวไกล ให้ช่วยกันต่อต้านหาก “ขั้วตรงข้าม” เล่นเล่ห์ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาสกัดการโหวต “พิธา”

รวมทั้งในวันเดียวกัน “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดวินิจฉัยรับคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปมถือหุ้นบริษัทไอทีวี เข้าข่ายขัดคุณสมบัติ สส. และสั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่กระแสต้านจากมวลชนยังอ่อนแรง

เมื่อ “มวลชน” อ่อนแรง กระแส “พิธา-ก้าวไกล” อ่อนลงตามไปด้วย จึงเป็นช่องให้ “ขั้วอำนาจเก่า” ใช้ไม้แข็งมากำราบ

  • ‘ขั้วอำนาจเก่า’เล็งยุบพรรค ปม ม.112

เงื่อนไขทางการเมืองไม่เป็นใจให้พรรคก้าวไกล แรงสนับสนุนจากมวลชนไม่มีพลัง ทำให้ “ขั้วอำนาจเก่า” ที่ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ตลอด ไม่กลัว-ไม่หวั่น ที่จะใช้กลไกทางกฎหมาย กลไกทางการเมือง มาเป็นเครื่องมือสกัด “พิธา-ก้าวไกล” ไม่ให้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง

โดยกลไกทางการเมืองที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 376 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ เปิดทางให้พรรคเพื่อไทยพลิกขั้วจับมือกับขั้ว 188 เสียง จัดตั้งรัฐบาล

กลไกทางกฎหมายเตรียมเอาผิด “พิธา-ก้าวไกล” ปมถือหุ้นสื่อ และปมใช้มาตรา 112 มาหาเสียง ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะจับแพ้ฟาวล์พรรคก้าวไกลหรือไม่ เนื่องจาก “พิธา” ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงนามส่งผู้สมัคร สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ

ยุทธศาสตร์โค้งสุดท้าย เพื่อไปต่อจนสุดกระดาน ต้องจับตาว่า “พิธา-ก้าวไกล” จะใช้กลยุทธ์ “หน้าด้าน” ติดสอยห้อยพรรคเพื่อไทยได้อีกนานเท่าไร และพลังมวลชนด้อมส้ม จะออกมาเรียกร้องสิทธิของพรรคอันดับ 1 ในรูปแบบใด 

ทั้งหมดทั้งมวล ที่เป็นข้อผิดพลาด จากภายในของก้าวไกลเอง ที่มีทั้งจุดอ่อน เกมรุก เกมถอย ที่นำมาใช้ รับมือมิตรเทียม ศัตรูแท้ ไม่ได้ ย่อมเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ก้าวไกลได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ในทุกย่างก้าวทางการเมือง จนกว่าจะถึงศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ท้าทายยิ่งกว่าเดิม