คำร้องผู้ตรวจฯถึงมือศาล รธน. ลุ้น 26 ก.ค.รับ-ไม่รับชี้ขาด ปมชง 'พิธา' นายกฯ
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดปมเสนอชื่อ 'พิธา' โหวตนายกฯซ้ำไม่ได้ ศาลรับคำร้องแล้ว จับตา 26 ก.ค.มีการประชุมตุลาการ รับหรือไม่รับคำร้องวันดังกล่าวเลยหรือไม่
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 รายงานข่าวจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งคำร้องผ่านระบบยื่นคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัย กรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 395 เสียง ไม่เห็นชอบให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ซึ่งการกระทำของที่ประชุมร่วมรัฐสภาดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับมาตรา 88 มาตรา 159 และ มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ยังขอให้มีคำสั่งหรือมาตรการชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ออกไปก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น
ล่าสุด มีรายงานแจ้งว่า เมื่อเวลา 15.13 น.ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมโดยปกติทุกวันพุธ ซึ่งสัปดาห์นี้ตรงกับวันที่ 26 ก.ค. ดังนั้นต้องรอดูว่า จะสามารถบรรจุวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เลยหรือไม่ และจะมีมติรับหรือไม่รับคำร้องในวันดังกล่าวเลยหรือไม่
ทั้งนี้มีรายงานจากรัฐสภาอีกว่า นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้แจ้งยกเลิกการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ในวันที่ 27 ก.ค.ออกไปก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าววานนี้ (24 ก.ค.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน และควรพิจารณาให้เสร็จสิ้น เพราะยังมีประเด็นข้อสงสัย จากมติเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ที่ประชุมจึงมีการประชุมเห็นชอบร่วมกัน ดังนี้
1. ผู้ตรวจฯ เห็นว่าการดำเนินการให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลเป็นนายกฯ เป็นการกระทำตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ใช่กรณีเสนอญัตติ ตามข้อ 41 เพราะการเสนอรายชื่อบุคคลได้รับการให้ความเห็นชอบนายกฯ กำหนดไว้เฉพาะตามรัฐธรรมนูญ และในข้อบังคับเป็นคนละหมวดกัน จึงเห็นชอบร่วมกัน การดำเนินการของรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค. มีการกระทำขัด มาตรา 88 มาตรา 159 และ มาตรา 172 จึงมีมติยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการกระทำดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
2. ได้พิจารณาคำร้องของผู้ร้องเรียน จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดมาตรการ และวิธีการชั่วคราว ชะลอให้ความเห็นชอบนายกฯ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อน ซึ่งจากการพิจารณาดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้คัดเลือกเห็นชอบ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ หากดำเนินการต่อไปก่อนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ยากต่อการเยียวยา จึงมีมติเห็นด้วยกับผู้ร้อง จึงขอให้ศาลกำหนดมาตรการวิธีการชั่วคราว เพื่อขอให้ชะลอการให้ความเห็นชอบ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกไปก่อน