'ทักษิณ' ลุ้นคุกสูงสุด 5 ปี หากคำสั่งศาล ไม่นับโทษต่อ
เปิดคดีค้างในศาล-ป.ป.ช. จ่อคิวฟัน 'ทักษิณ' ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมชี้ อดีตนายกฯ รับโทษคุกสูงสุดแค่ 5 ปี หากในคำพิพากษาของแต่ละคดี ศาลไม่ได้มีการสั่งให้นับโทษต่อจากคดีเก่า
การประกาศกลับไทยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังสร้างแรงกระเพื่อมไปทุกองคาพยพในสังคม
ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานตรวจสอบทั้งหลาย ที่กำลังเฝ้าจับตา สะสางสารพัดคดีค้างของเขา โดยเฉพาะคดีที่ค้างเติ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ว่ากันว่า หลังจาก ‘ทักษิณ’ เคลื่อนไหวผ่านลูกสาว ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าจะกลับไทยแน่นอน 10 ส.ค.นี้ ทางเครื่องบินส่วนตัว โดยจะแลนดิ้งลงดอนเมือง หรือไม่ก็ บน.6
ป.ป.ช.จึงได้เริ่มมอนิเตอร์คดี ‘ทักษิณ’ ที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนทั้งหมดทันที
- คดีค้างในศาล-ป.ป.ช.จ่อคิวฟัน
โดยแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ปัจจุบันทักษิณยังมีคดีที่ค้างระหว่างการไต่สวนอย่างน้อย 2-3 คดี แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีมติชี้มูล และมีมติไม่ชี้มูลไปแล้วหลายคดี แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้
โดยขั้นตอนของ ป.ป.ช. หากทักษิณเดินทางถึงประเทศไทย จะมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ และเปิดช่องให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่หากทักษิณต้องเข้าเรือนจำตามคำพิพากษาของศาล 3 คดีรวมโทษ 10 ปีก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จะไปรับฟังคำชี้แจงของเขาในเรือนจำแทน
สำหรับคดี ‘ทักษิณ’ ที่ ป.ป.ช.มีมติเห็นว่าไม่มีมูลไปก่อนหน้านี้ เช่น คดีกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในการประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ คดีกล่าวหาว่าร่วมกันพิจารณาอนุมัติให้มีการแปรรูป กฟผ. คดีกล่าวหาว่าทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ที่เห็นว่าไม่มี ‘คลิปลับ’ สั่งการตามที่กล่าวอ้าง และล่าสุดคดีกล่าวหาว่า อนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ปัจจุบัน ‘ทักษิณ’ ยังมีคดีที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุด ที่ตัดสินจำคุก 3 คดี รวมโทษ 10 ปี ได้แก่
1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การสั่งการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลาก จึงถือว่าก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ
2.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพเมียนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
3.คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม
ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ทักษิณดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท. ชื่อขณะนั้น)
โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย
- 2 คดียกฟ้อง
1.คดีกล่าวหาว่าอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI
คดีดังกล่าวศาลฎีกาฯ ได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายื่นยกฟ้องตามเดิม
2.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต โดยศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซูเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คือทักษิณ
- 1 คดีหมดอายุความ
คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551
โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว ทักษิณได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
- จำคุกแค่ 5 ปี หากศาลไม่นับโทษต่อ
มีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับโทษจำคุกของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งโดนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว 3 คดี โทษจำคุกรวม 10 ปี อดีตนายกฯต้องรับโทษรวม 10 ปี และเวลาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือพิจารณาลดวันต้องโทษ คิดคำนวณจากโทษรวม 10 ปี หรือคิดแยกรายคดี
“ทีมข่าวเนชั่น” ตรวจสอบไปยังแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ได้ข้อมูลน่าสนใจว่า เมื่ออดีตนายกฯทักษิณ ถูกจับขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังเดินทางกลับประเทศ และมีกระบวนการควบคุมตัวตามขั้นตอนเพื่อนำส่งศาลแล้ว ศาลจะสอบถามว่าเป็นบุคคลตามหมายจับศาลในคดีนี้ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็จะสรุปคำพิพากษาโดยย่อให้ฟังว่า คดีหวยบนดิน ศาลจำคุกกี่ปี คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ โดนโทษจำคุกกี่ปี คดีแก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป โดนโทษจำคุกกี่ปี แล้วออกหมายขัง ส่งตัวเข้าไปรับโทษในเรือนจำตามคำพิพากษา
ส่วนการนับโทษต้องไปดูคำพิพากษาแต่ละคดีว่าศาลสั่งให้นับโทษ “ต่อจากคดีเก่า” หรือไม่ ถ้าไม่สั่งให้นับโทษต่อ ก็จะนับโทษทับกัน
เช่น คดีหวยบนดิน โทษจำคุกคุก 2 ปี ไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อกับคดีอื่น คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ โทษจำคุกคุก 3 ปี ไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น และคดีแก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป โทษจำคุก 5 ปี ไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น
จึงเท่ากับว่า อดีตนายกฯทักษิณ จะถูกจำคุกสูงสุดแค่ 5 ปี เพราะคำพิพากษาของศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น แต่ถ้าสั่งนับโทษต่อ ก็จะถูกจำคุก 7 ปี หรือ 8 ปีแล้วแต่ว่าจะนับโทษต่อจากคดีไหน ถ้านับโทษต่อทุกคดี คือ 10 ปี
ส่วนการลดโทษ-การขอพระราชทานอภัยโทษ จะได้ลดเป็นรายคดี ดังนั้นถ้านายทักษิณได้ลดโทษเยอะในคดีเอื้อชินคอร์ป ก็จะได้ออกจากคุกเร็วที่สุด เพราะถูกจำคุกหนักสุดคือ 5 ปี
สรุปคืออดีตนายกฯทักษิณ โดนโทษจำคุกแค่ 5 ปี เพราะศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อกัน
ขณะที่การอ่านคำพิพากษา หลังตำรวจนำตัวส่งศาล ศาลจะไม่อ่านซ้ำทั้งหมด แต่จะแค่อ่านย่อทวน เพราะองค์คณะผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษาลับหลังคดีเหล่านี้โดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่แก้ไขใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว
- นับโทษต่อต้องขอให้ศาลสั่ง
ขณะที่ในมุมของนักกฎหมาย จากการสอบถามไปยังทนายความและนักกฎหมายชื่อดังหลายคน ได้รับการยืนยันตรงกันว่า คดีของอดีตนายกฯทักษิณ มีความเป็นไปได้ที่แต่ละคดีจะนับโทษซ้อนกัน เพราะการให้นับโทษต่อ อัยการต้องขอให้ศาลนับโทษต่อไปในคำฟ้องด้วย หากไม่มีคำขอ ศาลก็จะไม่พิพากษาไปถึง
ด้วยเหตุนี้ ข่าวที่ออกมาว่า อดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งมีโทษจำคุกจากคดีที่ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวม 3 คดี โทษจำคุกรวม 10 ปีนั้น คดีที่โดนโทษจำคุกสูงสุดคือ 5 ปี หากในคำพิพากษาศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อกัน อดีตนายกฯจะถูกจำคุกสูงสุด 5 ปี ส่วนอีก 2 คดี ที่มีโทษจำคุก 2 กับ 3 ปี ก็นับรวมอยู่ใน 5 ปีด้วยเช่นกัน