‘เพื่อไทย’ แถลงจับขั้วใหม่ตั้งรัฐบาล แก้ รธน.เสร็จ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่
‘เพื่อไทย’ แถลงทางการ เดินหน้าจับขั้วใหม่ตั้งรัฐบาลเอง ‘ก้าวไกล’ เป็นฝ่ายค้าน เหตุไม่ยอมรับการแก้ไข มาตรา 112 ลั่นเดินหน้าทำประชามติแก้ รธน.หลังประชุม ครม.นัดแรก ยืนยันหากร่าง รธน.ใหม่เสร็จแล้ว พร้อมคืนอำนาจให้ประชาชนจัดเลือกตั้งใหม่
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2566 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค เรื่อง ผลการหารือร่วมกับพรรคก้าวไกลและ 8 พรรคการเมือง ถึงแนวทางของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
นพ.ชลน่าน แถลงว่า เริ่มต้นใหม่ผ่าทางตันหาทางออกให้ประเทศ เพื่อไทย ก้าวไกล จับมือร่วมกับพรรคอีก 6 พรรค รวมเสียงได้ 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง 8 พรรคมีข้อสรุปภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเห็นอย่างชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ยึดมั่นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
วันที่ 13 ก.ค. 2566 แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวมเสียงจากรัฐสภาได้ มีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทย ได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถ ทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุนถึง 141 เสียง แต่ปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่น และ สว. ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ และยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่า แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งได้
ดังนั้น ที่ประชุม 8 พรรคร่วม จึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทยหาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และ สว.ได้
เพื่อไทย เดินหน้าหาเสียงเพิ่มเติมจาก สส. และ สว. โดยเชิญหลายพรรคหารือแลกเปลี่ยนความเห็น ณ พรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความเห็นจาก สว. ทั้งกลุ่ม และรายบุคคล พบว่า นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ยังเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรค และบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่า จะไม่สนับสนุนร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ทุกกรณี ในสถานการณ์นี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับก้าวไกล ขอถอนตัวจากการร่วมมือและเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายกฯ
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะไม่มีพรรคก้าวไกล อยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกล จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และยืนยันทำงานการเมืองมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ในภารกิจดังนี้
1.ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นต้นเหตุความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล และก่อให้เกิดวิกฤติต่างๆ ของประเทศ กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญใหม่
2.นโยบายที่พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมได้นำเสนอต่อประชาชน มีความคิดเห็นสอดคล้องกัน เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ผลักดันการกระจายอำนาจ ทั้งแง่ภารกิจ และงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาด และส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พร้อมผลักดันร่วมกับพรรคร่วม เพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความจริงใจต่อเพื่อนมิตรทุกพรรคการเมือง และ สว. รวมทั้งประชาชนว่า นี่คือ แนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติ ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ และช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดและเส้นทางที่ยากลำบากไว้ให้ได้ ให้ภารกิจนำประเทศพ้นวิกฤติ สร้างสรรค์ประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้ง คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ปลดพันธนาการจากกลไกไม่ปกติ คืนสู่ความปกติ ใช้ประสบการณ์ และความสามารถบุคลากรของเพื่อไทย เร่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ กติกาสูงสุดจากอำนาจของประชาชน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์