ตั้งรัฐบาลใหม่ใช้เวลานานแค่ไหน? ‘เบลเยียม’ รอนานสุด! 652 วัน
เปิดลิสต์ 5 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดตั้งรัฐบาลช้าที่สุด “เบลเยียม” รั้งอันดับ 1 ตั้งไข่รัฐบาลนานสุด 652 วัน ตามมาด้วย “สเปน” ใช้เวลา 315 วัน ด้าน “ไทย” ลากยาวนานสุดสมัยรัฐประยุทธ์หลังการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 รวมระยะเวลาหลังปิดหีบ-ฟอร์ม ครม. แล้วเสร็จ 108 วัน
Key Points:
- ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ยังคงคุกรุ่นต่อเนื่อง พบว่า ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลนับเดือน แต่ยังมีหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้เวลาหลายเดือนหรือมากกว่า 1 ปีกว่าจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ
- “เบลเยียม” ครองแชมป์ใช้เวลาตั้งรัฐบาลนานที่สุด โดยกินเวลามากถึง 652 วัน หรือเกือบ 2 ปี
- ตามมาด้วย “สเปน” “เนเธอร์แลนด์” “เยอรมนี” และ “สวีเดน” ที่ใช้เวลานับร้อยวันกว่าจะไม่ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่
ท่ามกลางสุญญากาศทางการเมืองนับตั้งแต่ปิดหีบเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดย “พรรคก้าวไกล” เต็มไปด้วยขวากหนามทุกย่างก้าว กระทั่งสภามีมติให้การลงคะแนนเสียงเลือก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในวาระเลือกนายกรัฐมนตรีเป็น “ญัตติซ้ำซ้อน” แกนจัดตั้งรัฐบาลจึงถูกถ่ายโอนมาที่พรรคอันดับ 2 อย่าง “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีบทสรุปว่า ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จริงหรือไม่ หากวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2566 ไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จริง ก็จะรวมระยะเวลารอคอยรัฐบาลชุดใหม่ทั้งสิ้น 81 วัน
-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย-
อย่างไรก็ตาม “ไทย” ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะ “เบลเยียม” ประเทศขนาดเล็กใจกลางทวีปยุโรปใช้เวลาทั้งสิ้น 652 วัน หรือเกือบ 2 ปีกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ตามผลการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2562 และยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้เวลาหลักร้อยวันเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะบริหารประเทศชุดใหม่ “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมรายชื่อพร้อมเหตุผลที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น
- เบลเยียม (Belgium)
เบลเยียมเผชิญกับอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลกว่าสองครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2010 ใช้เวลา 541 วันในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเกิดจากความแตกต่างเรื่องนโยบายระหว่างพรรคการเมืองฝ่าย “เฟลมมิช” และพรรคการเมืองฝ่าย “ฟรองโคโฟน” ฝั่งเฟลมมิชต้องการเสนอนโยบายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนฝั่งฟรองโคโฟนไม่เห็นด้วย-ต่อต้านการกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง ทั้งสองพรรคต้องใช้เวลาเจรจาหาตรงกลางอยู่พักใหญ่ กระทั่งได้ข้อยุติในเดือนตุลาคมปี ค.ศ.2011
แต่นั่นยังไม่ใช่สถิติที่นานที่สุด เพราะการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2019 “เบลเยียม” ทำลายสถิติตัวเองด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่กินเวลานานถึง 652 วัน ผลปรากฏว่า ครั้งนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดชนะขาด การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่สำเร็จ
- สเปน (Spain)
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี ค.ศ.2015 “สเปน” ใช้เวลา 315 วันในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าพรรคฝั่งอนุรักษนิยมจะชนะการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาที่มีอยู่ 176 ที่นั่งจากทั้งหมด 350 ที่นั่งได้ นอกจากนี้ พรรคการเมืองอื่นๆ ก็มีท่าทีต่อต้านพรรคอนุรักษนิยมเพราะไม่ต้องการการเมืองแบบเก่า แกนจัดตั้งรัฐบาลจึงใช้เวลาเจรจากับพรรคอื่นอยู่หลายครั้งกว่าจะลงตัว กว่าจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก็ใช้เวลายาวนานเกือบ 1 ปี
- เนเธอร์แลนด์ (Netherlands)
สำหรับ “เนเธอร์แลนด์” ประเทศบ้านใกล้เมืองเคียงกับ “เบลเยียม” ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.2017 ทั้งสิ้น 225 วัน เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของเนเธอร์แลนด์ โดยมีสาเหตุจากการตั้งรัฐบาลผสมที่ทั้ง 4 พรรคร่วมมีนโยบายแตกต่างกัน เนื่องจากในขั้วรัฐบาลมีทั้งพรรคสายอนุรักษนิยมและพรรคสายเสรีนิยม ยกตัวอย่างเช่น นโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศที่แต่ละพรรคมองต่างกัน บางพรรคเสนอนโยบายสมรสของคนเพศเดียวกัน และบางพรรคไม่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว จึงใช้เวลาเจรจานานถึง 215 วัน รวมทั้งยังอยู่ในสถานะ “รัฐบาลปริ่มน้ำ” เพราะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาเพียง 1 เสียง
- เยอรมนี (Germany)
หลังการเลือกตั้งปี ค.ศ.2017 ในรัฐบาล “อังเกลา แมร์เคิล” (Angela Merkel) เกือบจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เพราะพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือ พรรค “CDU” ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือพรรค “SDP” ซึ่งทั้งสองพรรคมีนโยบายที่ไม่ตรงกันหลายเรื่อง ทำให้การเจรจาล้มเหลวอยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายต้องยกกระทรวงสำคัญๆ ให้พรรค SDP กินเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลกว่า 4 เดือน นับเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศเยอรมนี
- สวีเดน (Sweden)
ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลในปี ค.ศ.2018 ยาวนาน 134 วัน เนื่องจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่ 1 ได้คะแนนเสียงต่ำที่สุดในรอบเกือบร้อยปีนับตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรค พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (Social Democrats) ต้องรวมคะแนนเสียงกับพรรคอื่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล และแม้ว่าจะรวมพรรคการเมืองฝั่งซ้ายมาอยู่ในขั้วแล้ว คะแนนเสียงก็ยังไม่ทิ้งห่างกับพรรคอันดับที่ 2 อยู่ดี จนท้ายที่สุดรัฐสภาได้มีมติให้พรรค “Social Democrats” ขึ้นเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเนื่องจากหาข้อสรุปไม่ได้
สำหรับประเทศไทย ระยะเวลาจัดตั้งรัฐบาลยาวนานที่สุดในสมัยรัฐบาลประยุทธ์เมื่อปี พ.ศ.2562 รวมเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลจนแล้วเสร็จทั้งสิ้น 108 วัน ทั้งนี้ การฟอร์มรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะกินเวลานานกว่าปี พ.ศ.2562 หรือไม่ และจะเสร็จสิ้นภารกิจเมื่อใด ต้องติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป
อ้างอิง: BBC, Guinness World Records, New York Times, Reuters, The Guardian, The Diplomat in Spain, Quartz