บนทางแพร่ง การเมืองไทยชักคล้ายไต้หวัน
ภายใต้คมเคียวระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมที่ครองอำนาจมายาวนานตั้งแต่ปี 2557 กับฝ่ายเสรีนิยมใหม่ที่ได้ใจ ครอบครองกระแสมวลชนมากขึ้นทุกวันทุกวัน ผลักดันให้พรรคขวัญใจประชาธิปไตยเดิมนั้นต้องเดินอยู่บนทางแพร่งที่ต้องเลือกให้ถูก
มิฉะนั้นจะสูญเสียโอกาสเป็นผู้นำทางความคิดของประชาชนไปตลอดกาล พรรคเพื่อไทยวันนี้จึงเหมือนกับพรรคก๊กมินตั๋งในวันก่อน
ขณะเดียวกันผู้ถือธงนำสังคมคนรุ่นใหม่อย่างพรรคส้มนั้นก็จะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มมหาอำนาจของสังคมแทนที่เพื่อไทย
ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายอาจสืบเนื่องยาวนานเป็นทศวรรษ จนกว่าสัดส่วนของคนที่ยึดถือหลักการจะเปลี่ยนแปลงไปจนมีฝ่ายที่เหนือกว่าอย่างเด็ดขาด ซึ่งตรงนี้ก็จะคล้ายไต้หวันอีกเหมือนกัน
พรรคของทักษิณกำเนิดขึ้นมา 20 ปีเศษ โดยมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองเก่าทั้งหมด เพราะมุ่งพัฒนามวลชนเป็นฐานเสียงอย่างยั่งยืน ด้วยจุดขายที่ผสานกันทั้งเสรีภาพของความเป็นประชาธิปไตย และเศรษฐกิจดีที่จับต้องเป็นรูปธรรมจริง
ผลคือต้องเป็นปรปักษ์กับกลุ่มที่กุมสภาพสังคมเดิมมายาวนาน แม้จะถูกกำหราบแบบถึงเลือดถึงเนื้อหลายครั้งก็ยังอยู่รอดเข้มแข็ง
ถ้าจะเทียบกับสถานการณ์การเมืองข้ามช่องแคบไต้หวัน ก็เหมือนกับพรรคก๊กมินตั๋งที่เป็นปรปักษ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมายาวนาน ก่อนคลื่นกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะมา
ไต้หวันสมัยที่พรรคก๊กมินตั๋งยังเป็นใหญ่นั้น การต่อต้านอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหนึ่งในภารกิจหลัก ไม่ต่างจากที่พรรคไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยต่อสู้กับระบบอำมาตย์ การต่อสู้ข้ามช่องแคบนั้นมีการปะทะกันบ้าง
ขณะที่ชาวบ้านแม้จะแบ่งฝักฝ่ายก็ต้องค้าขายอยู่ร่วมสังคมกันไปแล้วแต่ใครจะนิยมจีนหรือนิยม status quo ก็เหมือนกับสังคมไทยยุคสิบห้าปีก่อนที่เหลืองแดงต้องอยู่ร่วมกันในบ้าน
การที่พรรคก๊กมินตั๋งชูธงสร้างความรู้สึกไต้หวันนิยมให้กับชาวเกาะแห่งนั้นมายาวนานจนถึงยุคปี 2000 ก็คล้ายกับการที่พรรคทักษิณเป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตยของคนรากหญ้าจนถึง 7-8 ปีก่อนนั่นเอง
สถานการณ์ที่ไต้หวันมาเปลี่ยนเพราะพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party – DPP) ได้รับความนิยมจากประชาชนมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้
ผู้สนับสนุนพรรคนี้มักเป็นคนหนุ่มสาวเกิดในไต้หวัน รักประชาธิปไตย ผูกพันกับจีนน้อยกว่าคนรุ่นเก่า ไม่ได้ต้องการย้อนกลับไปเป็นใหญ่ในปักกิ่งเหมือนพวกก๊กมินตั๋ง
พวกเขาแทบจากฉวยคะแนนเสียงจากรากฐานที่ผู้นำก๊กมินตั๋งตอนปลายสหัสวรรษก่อนวางเอาไว้เป็นธงนำพาไต้หวันเข้าสู่ความเป็นไต้หวันนิยมและประชาธิปไตย ซึ่งมีส่วนทำให้ต้องเผชิญหน้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ถือหลักการชาตินิยมจีนและคอมมิวนิสต์ นี่ก็คล้ายกับที่เวลานี้พรรคก้าวไกลต้องยืนซดกับฝ่ายอนุรักษนิยมเดิม
ในเมื่อทั้งก๊กมินตั๋งและเพื่อไทยไม่ได้กลายเป็นพรรคอันดับหนึ่งในใจคนแล้ว พวกเขาจะทำยังไงต่อ แน่ล่ะ ความยิ่งใหญ่ของโครงสร้างรากฐานนั้นทำให้ยังประคองตนไปได้
มวลชนที่จงรักภักดีอย่างเหนียวแน่นก็ยังมีเยอะอยู่ แต่จะไม่มีทางชนะเลือกตั้งได้บริหารประเทศ ถ้านโยบายยังเป็นไม่เปลี่ยนแปลง คือต่อต้านปรปักษ์เดิมเหมือนเดิม ก็เพราะเงื่อนไขสำคัญคือมีพรรคใหม่ที่ประชาชนชอบใจกว่าเสียแล้ว
โดยพรรค DPP และพรรคก้าวไกลนั้นพัฒนานโยบายของก๊กมินตั๋งและเพื่อไทยให้สุดโต่งยิ่งขึ้น และมุ่งมั่นแสดงออกว่าสักวันหนึ่งความฝันของคนรุ่นต่อๆ ไปจะเป็นจริง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้เพราะคนรุ่นใหม่สมาทานแนวทางนี้มากขึ้น
พรรคก๊กมินตั๋งเลือกใช้วิธีการกลับไปญาติดีกับจีน เริ่มจากส่งรองหัวหน้าพรรคเดินทางไปปักกิ่งชิมลางก่อนเมื่อปี 2005 ปูทางสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีนเพื่อการรวมชาติอย่างสันติ สนใจเศรษฐกิจมากกว่าการเมืองการทหาร พยายามก้าวข้ามความขัดแย้งกับจีน แต่เป็นศัตรูกับพรรค DPP แทน
เพราะผลประโยชน์ตรงหน้าคือการได้บริหารไต้หวัน เมื่อเดินทางนี้แล้วก็หันกลับมาไม่ได้ การกระทำนี้สร้างความกระอักกระอ่วนแก่สมาชิกพรรครุ่นเก๋าที่เป็นศัตรูเจ็บแค้นมายาวนานกับฝ่ายคอมมิวนิสต์
ผลคือความนิยมชมชอบหดลง มวลชนที่ยังอยากต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่ก็หันไปหาพรรค DPP มากขึ้น
เราก็ต้องมาดูว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะเลือกแนวทางแบบนี้หรือเปล่า คือหันไปร่วมมืออย่างหลวม ๆหรืออย่างน้อยก็เลิกเป็นปรปักษ์กับฝ่ายอนุรักษนิยม ชูธงปากท้อง ปลุกกระแสต่อต้านการเมืองใหม่
พรรคก๊กมินตั๋งเคยอาศัยเสน่ห์ของผู้นำอย่าง "หม่าอิงจิ่ว" บริหารประเทศได้ระยะเวลาหนึ่ง พรรคเพื่อไทยอาจประสบความสำเร็จอย่างนั้นก็ได้ แต่ในระยะยาวที่หลักประชากรศาสตร์มีความสำคัญ พร้อมกับโลกที่เปลี่ยนไปโปร่งใสชัดเจนและบรรทัดฐานสากลถูกคำนึงถึงกันมากขึ้น
ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้นมาของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น ๆ ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจจะน้อยกว่าของพรรคก้าวไกล หรือพรรคที่ยึดในสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนยิ่งกว่าพรรคก้าวไกลในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร ก้าวเดินต่อไปของพรรคเพื่อไทยจะสร้างการเปลี่ยนแปลงของแลนด์สเคปการเมืองไทยอย่างแน่นอน.