2 บ่วงการเมือง “ศาล รธน.-สว.” ทางไม่ง่ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย”

2 บ่วงการเมือง “ศาล รธน.-สว.” ทางไม่ง่ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย”

แม้ "พรรคเพื่อไทย" จะยอดถอดบ่วง ทั้ง ไม่แก้ม.112-สลัดทิ้ง "พรรคก้าวไกล" เพื่อหวังให้โรดแมปจัดตั้งรัฐบาลเดินไปสู่จุดหมาย ทว่ายังมีสิ่งต้องลุ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นทางที่ไม่ง่ายของ "รัฐบาลเพื่อไทย"

ก้าวย่างของสถานการณ์การเมืองเวลานี้ ต้องจับตา 2 ปมร้อน ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวร้อยถึงกัน

เรื่องแรก คือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณามติของรัฐสภา เมื่อ 19 กรกฎาคม ว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ให้รัฐสภาเห็นชอบรอบสอง คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการเลือกนายกฯ คนใหม่ไว้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ซึ่งศาลเตรียมพิจารณาและวินิจฉัยเบื้องต้น วันที่ 3 สิงหาคม

2 บ่วงการเมือง “ศาล รธน.-สว.” ทางไม่ง่ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย”

เรื่องสอง คือ รัฐสภานัดโหวตนายกฯ เป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 4 สิงหาคม หลังจากที่การโหวตนายกฯ 2 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อ 13 กรกฎาคม และ 19 กรกฎาคม ที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถได้บุคคลให้ทำหน้าที่ “นายกฯ” คนที่30 ได้

สำหรับเรื่องแรกนั้น นักกฎหมายของรัฐสภา และนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ประเมินทางออกของคำวินิจฉัย มีได้ 3 แนวทาง คือ

1.“ตีตกคำร้อง” ด้วยเหตุผลคือ การใช้สิทธิของบุคคลที่ไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งส่วนของประชาชนฐานะผู้เลือกพรรคก้าวไกล และสมาชิกรัฐสภา นั้นไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้โดยตรง และอีกนัยหนึ่ง คือ การไม่ก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยในฝ่ายนิติบัญญัติ

 

2. “รับคำร้อง” แต่ไม่มีคำสั่งใดๆ เนื่องจากเคยมีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น ในชั้นการพิจารณาเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด ของวุฒิสภา เมื่อ 12 ตุลาคม 2565 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกชื่อของ “รัชนันท์ ธนานันท์” ผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ถึง 2 ครั้ง 2 ครา

2 บ่วงการเมือง “ศาล รธน.-สว.” ทางไม่ง่ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย”

กรณีดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับเคสของ “พิธา” แต่ต่างกันตรงที่ “รัชนันท์” ฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับขอให้เพิกถอนมติของวุฒิสภาที่ตีตกตนเอง

 

ในครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา แต่ภายหลัง “ยกคำร้อง” เพราะการสรรหาเสนอชื่อเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือหลักความเสมอภาค ขณะที่การตรวจสอบ และลงมติที่มีรายละเอียดกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาครั้งนั้น ถือว่า “ชอบ” ตามกฎหมาย

 

และ 3. “รับคำร้อง และสั่งให้ชะลอโหวตนายกฯ” โดยแนวทางนี้ ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาประเมินตรงกับ สว. ที่มองว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ชะลอโหวตนายกฯ จากการกระทำครั้งก่อนของรัฐสภา จะถือว่าแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ

2 บ่วงการเมือง “ศาล รธน.-สว.” ทางไม่ง่ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย”

แม้จะมีคนยกกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ​เคยสั่งให้สภาฯ โหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ใหม่ ในวาระ 2-3 เพราะพบว่ามีผู้เสียบบัตรลงมติแทนกัน แต่ในหลักการเนื่องจากมี “การกระทำของบุคคลที่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ” แม้จะมีคนที่ทำแบบนั้น 2-3 คน เท่ากับว่าเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ชอบ 

 

ดังนั้นเพื่อคืนความถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งดังกล่าว ซึ่งไม่สามารถเทียบเคียงกับกรณีมติรัฐสภาเมื่อ 19 กรกฎาคมได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม ว่าด้วยการออกเสียงลงคะแนน

ทว่า ในมุมของ “มานิตย์ จุมปา” ประเมินผ่านรายการของสถาบันพระปกเกล้า มองว่าอาจจะเป็นไปได้ เพราะประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในหลักสำคัญคือ การใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 และมติของรัฐสภาที่ห้ามเสนอ “แคนดิเดตนายกฯ” ซ้ำรอบสอง โดยไม่ดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกนายกฯ ที่ไม่กำหนดว่าห้ามเสนอชื่อซ้ำ ดังนั้นอาจพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลหรือไม่

อย่างไรก็ดี ในแนวทางวิเคราะห์ทิศทางของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จึงถูกประเมินว่า จะออกไปที่ “ตัวเลือกแรก” คือ “ยกคำร้อง” ประมาณ 80% โดยถือวิธีคิดของแนวทางแรก และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 12 ตุลาคม 2565 ประกอบ ขณะที่ 20% คือ รับและสั่งชะลอโหวตนายกฯ

 

หากเป็นไปในทางเปอร์เซ็นต์ข้างมาก โรดแมปการเมืองจะเคลื่อนไปสู่การเสนอโหวตนายกฯ วันที่ 4 สิงหาคมทันที โดยผู้ได้รับสิทธิเสนอชื่อต่อรัฐสภา คือ “เศรษฐา ทวีสิน” 

2 บ่วงการเมือง “ศาล รธน.-สว.” ทางไม่ง่ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย”

กับเส้นทางนายกฯ - รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังเป็นเกมที่ต้องลุ้น แม้ “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะลดเงื่อนไข ทั้งการไม่แก้ไข ม.112 และไม่มี “พรรคก้าวไกล” ร่วมรัฐบาล ทว่า สว.ยังคงระแวงว่าจะถูกหักหลัง หากให้เสียงกับ “เศรษฐา” แต่ภายหลังหวนมาจับมือกันอีก

 

ล่าสุด ความเคลื่อนไหวของ สว.ได้แสดงความเห็นผ่านไลน์กลุ่ม โดยส่งสัญญาณว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยแถลงว่า “ก้าวไกล” ถอยเป็นฝ่ายค้านนั้น คือละครตบตา

 

“ก้าวไกลจะทำทีแยกเป็นไปฝ่ายค้าน แต่จะโหวตเพื่อแสดงสปิริต จากนั้นอำนาจจัดหรือปรับ ครม. เป็นของนายกฯ ไม่เกี่ยวกับรัฐสภา หากหาจังหวะเหมาะ ดึงก้าวไกลกลับมาร่วม ครม. แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด แถมปล่อยผี คดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและพวก โอกาสเกิดขึ้นได้” สว.บางคนแสดงทัศนะผ่านไลน์กลุ่ม

 

ยิ่งพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ “เริ่มต้นใหม่” ย้ำปมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เตรียมยกเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่การประชุม ครม.ครั้งแรก ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยิ่งตอกย้ำความระแวงของ สว.ว่า จะใช้อำนาจสูงสุดในฝ่ายบริหาร และเสียงข้างมากในสภาฯล้มล้าง “ขั้วอำนาจเดิม” ยิ่งเป็นทางที่ไม่ง่ายสำหรับ “พรรคเพื่อไทย-เศรษฐา” 

ยกเว้น ต้องพึ่งบารมี “ประวิตร-ประยุทธ์” ที่ยังกุมเสียง สว. ข้างมากไว้ในมือ.

2 บ่วงการเมือง “ศาล รธน.-สว.” ทางไม่ง่ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย”