'โรม' โต้ 'เสรีพิศุทธ์' ยัน ก้าวไกลถอยแล้วทุกตำแหน่ง หวัง สส. - สว.ปิดสวิตช์ ม.272

'โรม' โต้ 'เสรีพิศุทธ์' ยัน ก้าวไกลถอยแล้วทุกตำแหน่ง หวัง สส. - สว.ปิดสวิตช์ ม.272

'โรม' เผย 'ก้าวไกล' ยังไม่มีมติโหวตเลือกนายกฯ โต้ 'เสรีพิศุทธ์' ยันถอยแล้วทั้ง 'ประธานสภาฯ - แกนนำตั้งรัฐบาล' หวัง สส. - สว.ร่วมกันปิดสวิตช์ มาตรา 272 เตือนอย่าใช้วิชามาร ล่มประชุมสภาฯ 4 ส.ค.

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยผลการประชุมของพรรคก้าวไกล เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ถึงการลงมติเรื่องนายกรัฐมนตรี ว่า พรรคก้าวไกล ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากเลขาธิการพรรค ได้ขออย่าเพิ่งมีข้อสรุป เนื่องจากเหตุการณ์ยังปุบปับเกินไป และเดิมทีจะมีข้อสรุปในวันนี้ (3 ส.ค.) แต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) ได้ถูกเลื่อนออกไป จึงทำให้ยังไม่มีข้อสรุป แต่ย้ำว่า พรรคก้าวไกล จะไม่ลงมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน

นายรังสิมันต์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ขอให้พักก้าวก่ายสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อตอบแทนบุญคุณว่า ในการทำงานทางการเมือง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ไม่เกี่ยวข้องกับบุญคุณ และพรรคพักก้าวไกลจะเป็นหนี้บุญคุณ ก็เป็นหนี้บุญคุณของประชาชนเท่านั้น และเห็นว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลยอมตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้สิทธิพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อรักษา 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเอาไว้นั้น ก็ถือว่า มีบุญคุณมากกว่า และถือว่า เป็นการยอมแล้ว ยอมอีก และยอมต่อ

นายรังสิมันต์ กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว.ยกเลิกอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยหวังว่า สส.ทุกพรรคการเมือง และ สว. ทั้งที่เคยสนับสนุนการปิดสวิตช์ สว. และต้องการปิดสวิตช์ตนเองเพิ่มเติม จะให้การสนับสนุน และไม่ใช้ข้ออ้างเรื่องการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ยังจะต้องอาศัยเสียงของ สว.อยู่มาขัดขวางการแก้ไขในครั้งนี้ รวมถึงไม่ใช้วิชามาร ในการทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่ม จนไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะอำนาจการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. เหลือระยะเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้น อำนาจดังกล่าว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องคงไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยื้อระยะเวลาประชาธิปไตยของประเทศ และเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า อำนาจ สว.ดังกล่าวเป็นหล่มทางการเมือง กระบวนการแก้ไขครั้งนี้ จะเสร็จสิ้นได้ 3 วาระ โดยใช้ระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น หรือเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน นี้ 

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า อำนาจการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. เป็นลมทางการเมือง เพราะหากไม่มีมาตราดังกล่าว การจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรี ตามความต้องการของประชาชน ก็น่าจะเสร็จสิ้นลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังทำให้การจัดตั้งรัฐบาล มีความแปลกพิสดาร มีการผสมข้ามสายพันธุ์ ไม่มีเรื่องอุดมการณ์ และเปิดโอกาสให้ สว. พี่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถตั้งเงื่อนไขพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมาร่วมรัฐบาลได้

ส่วนกรณีที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เห็นควรให้รอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นก่อนนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้มีการระบุถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์