อ่านมุมมองสื่อนอกต่อการเมืองไทย 'ไม่ตัดประเด็นทหารแทรกแซง'

อ่านมุมมองสื่อนอกต่อการเมืองไทย 'ไม่ตัดประเด็นทหารแทรกแซง'

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานสถานการณ์ทางตันการเมืองไทยด้วยภาษาง่ายๆ ให้คนต่างชาติได้อ่านในประเด็นที่คนไทยอยู่แล้ว แต่ด้วยการรายงานแบบตรงไปตรงมากลับมีนัยยะที่คนไทยมองข้าม กรุงเทพธุรกิจเห็นควรถ่ายทอดถึงผู้อ่านแบบคำต่อคำ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางตันการเมืองไทยยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะสิ้นสุดในเร็ววัน เมื่อ ส.ส.ต้องใช้ตัวแทนต่อรอง ทะเลาะเบาะแว้ง และยกเลิกความเป็นพันธมิตร เลือกตั้งมาแล้วหลายเดือนยังไม่เห็นวี่แววนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้กลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ประเทศที่มีรัฐประหารสิบกว่าครั้ง เอเอฟพีสรุปสถานการณ์การเมืองไทยไว้ดังนี้

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ไทยจัดเลือกตั้งในเดือน พ.ค. พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะแบบช็อกวงการ เนื่องจากคนไทยจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลงและยุติการปกครองที่กองทัพหนุนหลังมาเกือบสิบปี แต่แผนการของพรรคซึ่งรวมถึงการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 สร้างความหวาดกลัวให้กับอำนาจเก่าสายอนุรักษนิยมอันทรงพลัง

เดือนก่อนแนวร่วมแปดพรรคนำโดยพรรคก้าวไกล ได้เสียงสนับสนุนไม่มากพอให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักปฏิรูปหนุ่ม เป็นนายกรัฐมนตรีได้

พิธาไม่ชนะเลือกตั้งกระนั้นหรือ

พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มากที่สุด 151 คน แนวร่วมแปดพรรครวบรวมเสียงได้ 312 เสียง

แต่การจะเป็นนายกฯ ต้องได้เสียงข้างมากเด็ดขาดจากสองสภา 374 เสียง รวมเสียง ส.ว.ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งอีก 250 คน จากระบบที่ทหารเป็นผู้ออกแบบ

จากจุดยืนปฏิรูปของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะเกี่ยวกับกฎหมาย 112 รวมถึงคำมั่นทลายทุนผูกขาด ก้าวไกลได้ ส.ว.มาแค่ 13 เสียง พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ทั้งยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่จากกรณีหุ้นไอทีวี ซึ่งเป็นข้อห้ามสำหรับ ส.ส. และอาจถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง

พิธาหลุดแล้วใครจะเป็นนายกฯ

ตอนนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่พรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับสอง เพื่อไทยถูกมองว่าเป็นยานพาหนะของตระกูลชินวัตร ที่อดีตนายกรัฐมนตรีสองคนในตระกูลถูกรัฐประหาร ปี 2549 และ 2557

หลังคาดการณ์กันมาหลายสัปดาห์ เพื่อไทยก็แตกหักอย่างเป็นทางการกับก้าวไกลเมื่อวันพุธ (2 ส.ค.) พร้อมประกาศชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก่อนหน้านี้พิธาเคยบอกว่าพรรคของตนจะสนับสนุนแคนดิเดตของเพื่อไทย แต่ผู้สนับสนุนพิธาไม่พอใจและประท้วงต่อต้านเพื่อไทย

พวกเขาไม่ได้อยู่ข้างเดียวกันหรอกหรือ

ทั้งสองพรรคต่อต้านการปกครองของทหาร แต่ก้าวไกลและเพื่อไทยเป็นตัวแทนของคนสองฝั่งในสังคมไทยที่แตกต่างกันอย่างมาก

ผู้สนับสนุนก้าวไกลเคลื่อนไหวสร้างการเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากกว่า ขณะที่ผู้ติดตามพรรคเพื่อไทยที่มีแนวโน้มสูงวัยกว่าและส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ไม่ได้เรียกร้องให้ปฏิรูปอย่างรวดเร็ว

แต่กลายเป็นว่าสัปดาห์ก่อนปรากฏภาพผู้นำพรรคเพื่อไทยดื่มช็อคมินต์กับผู้นำพรรคที่ทหารหนุนหลัง ทั้งๆ ที่ตอนหาเสียงบอกว่าจะไม่ร่วมมือกับพรรคที่เป็นพันธมิตรกับทหาร

เหนือสิ่งอื่นใดคือก้าวไกลไม่ยอมถอยเรื่องแก้ 112 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

เกิดอะไรขึ้นตอนนี้

กำหนดการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 ในวันศุกร์ (4 ส.ค.) ถูกเลื่อนไป ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอีกหนึ่งคดีเกี่ยวกับการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ซึ่งก่อนที่จะเสนอชื่อเศรษฐาพรรคเพื่อไทยต้องมั่นใจว่ามีเสียงสนับสนุนมากพอ มีการคุยกับ ส.ว.และ พรรคอื่นๆ เพื่อตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ แม้ยังไม่ประกาศรายละเอียด

โอเค มีอย่างอื่นอีกมั้ย

ก็เหมือนเดิม ปีศาจสองตัวที่ปรากฏขึ้นเหนือกระบวนการทั้งหมดคือกองทัพและอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่หลายคนยังมองว่า เขาคือคนชักใยพรรคเพื่อไทยตัวจริง คาดกันว่าทักษิณจะกลับไทยในวันที่ 10 ส.ค. หลังลี้ภัยในต่างแดน 15 ปี และในประเทศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการรัฐประหาร การที่กองทัพจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองอีกครัั้งไม่สามารถตัดออกไปได้