"เสรีพิศุทธ์" หัวหมู่ทะลวงฟัน ลุ้นรางวัล คุมงาน”ตำรวจ”
บทบาทของ "เสรีมีไว้ลุย" ที่รับบทหัวหมู่ทะลวงฟัน กับ "ก้าวไกล" ผุดวลี "ถอย-เสียสละ-ตอบแทนบุญคุณ" โดยไม่สน "ฐานเสียง-การเลือกตั้ง" รอบหน้า เดาไม่ยากว่า อาจหวัง "รางวัล" ในตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาล
ปรากฎการณ์ “ทวงบุญคุณ” จาก “พรรคก้าวไกล” ที่ออกมาจาก ปากของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย วานนี้ (3สิงหาคม) ที่ระบุว่า
“ผมอยากฝากไปยังคุณชัยธวัช (ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล) ที่บอกว่าจะไม่ลงคะแนนให้เพื่อไทย ให้ย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล รอบนั้นพรรคเพื่อไทยลงมติให้ ดังนั้นรอบนี้พรรคก้าวไกลจะลงคะแนนเพื่อตอบแทนบุญคุณไม่ได้หรือ”
ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ฟาดปาก สร้างรอยแแผลและความขุ่นข้องใจให้กับ “พรรคก้าวไกล”
หากย้อนไปดู นับตั้งแต่ที่ “พรรคก้าวไกล” ฝ่าด่านโหวตนายกฯ รอบแรกไม่ได้ โดยชื่อของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ ของก้าวไกล ไม่ได้รับความเห็นชอบถึงเกณฑ์ 375 เสียง ทำให้เส้นทางที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยริบหรี่
“วีรบุรุษนาแก” ผู้ที่ฝ่ากระแสกติกาเลือกตั้งซึ่งปรับใหม่ พาพรรคเสรีรวมไทย ฐานะพรรคเล็กกลับมาได้แค่ 1 สส.
เมื่อเข้าสภา ก็สวมบทเป็น “ขุนศึก” ให้พรรคเพื่อไทย ทะลวงฟัน “พรรคก้าวไกล” ให้ถอยออกจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล
“กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปย้อนคำพูด เพื่อแกะรอยนัยการเมืองที่แฝงอยู่
เริ่มจาก วันที่ 15 กรกฏาคม วันที่พรรคเสรีรวมไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี -ปรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุให้พรรคก้าวไกล “เสียสละ” เป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ราบรื่น เพราะจากเสียงโหวตของ สว. พ่วงกับเงื่อนไขไม่เอาพรรคก้าวไกลทำให้หนักใจ หากเสนอชื่อพิธาให้โหวตรอบ 2 เพราะ สว.และ สส.ฝั่งตรงข้ามจะไม่โหวตให้เหมือนเดิม
เหตุที่หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยวิเคราะห์ เพราะในวันโหวตนายกฯ 13 กรกฏาคม สว.ส่งสัญญาณ เงื่อนไขไม่เอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ด้วยเหตุผลทั้งนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ “พิธา” มีคดีตรวจสอบคุณสมบัติคาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกันในวันที่ 15 กรกฏาคม “เสรีพิศุทธ์” ได้เปิดประเด็นขอเสียง “ก้าวไกล” โหวตสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการเอาใจกันไว้ และตอบแทนซึ่งกันและกัน
หลังจากนั้นกระแส “เสรีพิศุทธ์” ได้รับความสนใจแบบ “พุ่งแรง” จนถูกนำชื่อไปเป็นคำค้นหา จนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลายสำนักและหลายสถานีโทรทัศน์หลังจากนั้น โดยย้ำประโยคที่เป็นเหตุเป็นผลของข้อเสนอให้ “เสียสละ” ว่า เป็นเพราะพรรคก้าวไกลไม่มีเพื่อน จึงทำให้การรวมเสียงเพื่อโหวตนายกฯ ซึ่งเป็นประตูแรกของการจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปได้ยาก
นอกจากนั้น ปฏิกริยาของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กับ “พิธา-ก้าวไกล” มีท่าทีของการไม่ยอมรับ เพราะวันโหวตนายกฯ รอบสองเมื่อ 19 กรกฏาคม สส.1 เดียวของพรรคเสรีรวมไทยไม่ลงคะแนนคัดค้าน ญัตติที่ห้ามเสนอแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกตีตกไปแล้ว ซ้ำรอบสอง เหมือนอย่าง 7 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ชี้แจงภายหลังว่า “ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐสภาทำ และมองว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันเตรียมยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย “ความถูกผิดเป็นอย่างไร”
ต่อมา วันที่ 21 กรกฏาคม ในวันที่พรรคก้าวไกลประกาศส่งไม้ต่อให้ “พรรคเพื่อไทย” รวมเสียงตั้งรัฐบาล และ 8 พรรคร่วมรัฐบาลนัดหารือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้พูดหลังจากการแถลงข่าว ที่มี “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมวงแถลงกับแกนนำพรรคเพื่อไทยอยู่ด้วยว่า
“ถ้าเสียสละ ผมพูดในห้องประชุม 8 พรรค เรืออยู่กลางทะเล เรือมันล่ม มีคนแก่ ผู้หญิง มีเด็กต่างๆ เราคนหนุ่มจะขึ้นเรือเหรอ ต้องให้เด็ก คนแก่ ผู้หญิงขึ้นไปก่อน ไม่ใช่หนุ่มกระโดดขึ้นเรือก่อน ดังนั้นต้องมีผู้เสียสละให้ประชาธิปไตยไปได้ ถ้าไม่เสียสละไปไม่ได้”
จังหวะถูกไล่นั้น “ชัยธวัช” ไม่ได้ตอบโต้อะไร แต่ต่อมาหัวหน้าพรรคก้าวไกล “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ซัดกลับ ระหว่างลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่า “หากเรือรั่วต้องช่วยกันอุด ไม่ใช่ถีบเพื่อนให้ออกจากเรือ”
ปรากฎการณ์ “เสรีพิศุทธ์” ฟาด “ก้าวไกล” ยังไม่หยุดแค่นั้น เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม ยังสัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยมีวลีเด็ดคือ “เมื่อไม่ช่วยเพื่อนจะเป็นตัวถ่วงทำไม”
หลังจากเกิดปรากฎการณ์ “ตัวตึงก้าวไกล” ออกมาโพสต์-ทวิตปลุก “ด้อมส้ม” ให้เคลื่อนไหว-ชุมนุม หากพรรคเพื่อไทยประกาศแยกทาง- “ฉีกMOU8พรรค” หรือ ดึง “ขั้วอำนาจเดิม” มาผสมสูตร
“ที่บอกให้ถอย คือถอยไปอยู่ข้างๆ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน เสียสละให้เพื่อนขึ้นฝั่งให้ได้ก่อน เมื่อไม่ช่วยเพื่อนจะเป็นตัวถ่วงทำไม ถอยเพื่อให้พรรคเพื่อไทยโหวตนายกฯให้สำเร็จก่อน อย่ายุ่งกับอะไรเขา พรรคก้าวไกลจะไปก้าวก่ายทำไม ตอนคุณจัดไม่ได้ก็เพราะคุณไม่มีเพื่อนเอง สำหรับประชาชนถ้าคิดว่า พรรคเพื่อไทย ทำไม่ดี คราวหน้าก็ไม่ต้องเลือก ไม่ใช่ไม่ได้ไปก็ก่อม็อบ แบบนี้ทำเกินกว่าเหตุ”
ต่อมาเมื่อ 2 สิงหาคม “เสรีพิศุทธ์” ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ภายหลังพรรคเพื่อไทยแถลงการณ์เริ่มต้นใหม่ พร้อมจั้ดตั้งขั้วใหม่ ไม่มี “ก้าวไกล” ร่วมรัฐบาล แล้วเสร็จไม่กี่นาที ว่า พร้อมร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยต่อ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะดึง “ขั้วอำนาจเดิม” ร่วมรัฐบาลใหม่หรือไม่
แถมทิ้งท้ายไปยังพรรคก้าวไกลอีกว่า “ทางกฎหมายไม่มีบทบัญญัติให้พรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ต้องได้เป็นนายกฯ หรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่ผ่านมาพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ต้องรวมเสียงข้างมากให้ได้ แต่เมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ต้องยอมรับ”
ขณะที่โอกาสของ “ก้าวไกล” จะไปเป็น “ฝ่ายค้าน” และ “หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็น สส.” ต้องรั้งตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากสุด แต่ยังติดปัจจัยที่ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” สส.พิษณุโลกนั่ง รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดเป็นข้อห้ามไว้
ประเด็นนี้ “หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย” บอกว่า “ปดิพัทธ์ไม่ต้องลาออก” เพื่อปลดล็อคให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านตัวจริงตามรัฐธรรมนูญ พร้อมโพล่งประโยคที่แทงใจก้าวไกลออกมาอีกว่า
“ไม่จำเป็นต้องลาออกตอนนี้ เพราะพรรคก้าวไกลยังมีประเด็นที่ถูกร้องเรียนเรื่องการล้มล้างการปกครอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดและยุบพรรคก้าวไกล นายปดิพัทธ์ ฐานะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ต้องพ้นตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ดังนั้นการลาออกตอนนี้หรือไม่ ยังไม่จำเป็น”
ก่อนที่เช้าวันถัดมา 3สิงหาคม “เสรีพิศุทธ์” ได้ให้สัมภาษณ์โดยเปิดวลี “ตอบแทนบุญคุณ” หวังให้พรรคก้าวไกลโหวตหนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ในจังหวะที่สถานการณ์การเมืองปมโหวตนายกฯ ยังไม่ชี้ชัดว่า ชื่อของ “เศรษฐา ทวีสิน” จะได้เสียงเห็นชอบของรัฐสภา ถึงเกณฑ์ 375 เสียงหรือไม่
ปฏิบัติการที่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ทำนั้น ไม่มีใครทราบได้ว่า วัตถุประสงค์เพื่ออะไร แต่ในวงการเมือง มีข่าวเม้าท์ว่า ต้องการตำแหน่ง “รองนายกฯ” และดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงต้องสวมหัวโขนเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ในบทบาท “องครักษ์พิทักษ์เพื่อไทย”
โดยไม่สนใจว่าการกระทำและคำพูดของตนเองนั้นจะทำให้ “แฟนคลับเสรีรวมไทย” สิ้นศรัทธา และในการเลือกตั้งรอบหน้า อาจไม่มี สส.ในนามพรรคเสรีรวมไทย สักคนเดียว ได้ย่างเท้าเข้าสภาฯ.