ย้อนไทม์ไลน์ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ หลังแยกทางก้าวไกล-ฉีก MOU
ใกล้ถึงฝั่งฝัน!? ย้อนไทม์ไลน์จัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย” หลัง “พิธา” เปิดทางพรรคอันดับ 2 นำทัพสลายขั้วรวบรวมเสียงในสภา ดัน “เศรษฐา” ตัวเต็งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เดินหน้าสูตร “ไม่มีลุง-ไม่มีก้าวไกล”
ถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม และในวันที่ 19 กรกฎาคมประธานสภาให้ลงมติวินิจฉัยว่า เป็นการเสนอ “ญัตติซ้ำ” ทำให้ในเวลาต่อมา “พรรคก้าวไกล” แถลงข่าวเปิดทางให้ “พรรคเพื่อไทย” พรรคอันดับที่ 2 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยยังมี 8 พรรคร่วมเดิมที่ได้ทำ “MOU” ร่วมกันไว้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ “พรรคเพื่อไทย” เดินหน้าจัดตั้ง รัฐบาลเพื่อไทย โดยมีการเทียบเชิญ “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” พูดคุยหารือ ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็แบ่งออกเป็นสองส่วน ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยว่าเพื่อไทยควรหาทางออกด้วยการหารือร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพิ่มเติม และฝั่งที่มองว่า บรรดาพรรคดังกล่าวมีแนวทางการทำงานที่เห็นแย้งกันกับ 8 พรรคร่วมเดิม
กระทั่ง “พรรคเพื่อไทย” ตั้งโต๊ะแถลงในวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีมติในที่ประชุมพรรคว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมด้วย
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมลำดับเหตุการณ์นับตั้งแต่วันที่ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาลจนถึงข้อมูล ณ ปัจจุบัน (4 ส.ค. 66) ดังนี้
- “ก้าวไกล” แถลงเปิดทาง “เพื่อไทย” จัดตั้งรัฐบาล (21 ก.ค. 66)
- “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกลตั้งโต๊ะแถลงว่า หลังจากนี้จะส่งไม้ต่อให้กับพรรคอันดับที่ 2 ซึ่งก็คือ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลกับอีก 8 พรรคร่วมที่ได้มีการทำ “MOU” ร่วมกัน
- “พรรคเพื่อไทย” ออกแถลงการณ์ยืนยันพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขเดิมกับ 8 พรรคร่วม พร้อมทั้งได้มีการระบุในถ้อยแถลงว่า เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้ามีปัญหาอันเนื่องมาจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
- “เพื่อไทย” เปิดบ้านอ้าแขนชน “วงมิ้นช็อค” (22 ก.ค. 66)
- “พรรคเพื่อไทย” เทียบเชิญพรรคการเมือง “ขั้วรัฐบาลเดิม” ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติพัฒนากล้า หารือร่วมกันในวาระการจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า เป็นการเปิดโอกาสรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกพรรคการเมือง เพื่อร่วมกันแก้ไขหาทางออกจากวิกฤติประเทศ
- “วงมิ้นช็อครอบ 2” (23 ก.ค. 66)
- “พรรคเพื่อไทย” เทียบเชิญพรรคการเมือง “ขั้วรัฐบาลเดิม” ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ หารือร่วมกันเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล
- “วันนอร์” สั่งเลื่อน โหวตนายก (25 ก.ค. 66) :
- “พรรคเพื่อไทย” แจ้งยกเลิกการประชุม 8 พรรคร่วมออกไปก่อนโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล
- “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาสั่งงดการประชุมสภาในวันที่ 27 กรกฎาคม เนื่องจากเช้าวันที่ 28 กรกฎาคมมีกำหนดงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่ศาลาว่าการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร
- “อุ๊งอิ๊ง” ประกาศเคาะวัน “ทักษิณกลับบ้าน” (26 ก.ค. 66)
- “แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยออกมาโพสต์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “ทักษิณ ชินวัตร” มีกำหนดกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคมที่จะถึงนี้
- “เพื่อไทย” แถลงแยกทาง “ก้าวไกล” (2 ส.ค. 66)
- “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วย “ประเสริฐ จันทรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงยืนยันการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่มี “พรรคก้าวไกล” และมีมติในที่ประชุมให้เสนอชื่อ - “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยในวันที่ 3 ส.ค. 66 จะมีการแถลงเปิดตัวพรรคร่วมที่จะมาจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันอีกครั้ง
- “เลื่อนโหวตนายก” ไม่มีกำหนด รอศาลรธน. วินิจฉัยปม “โหวตพิธา” (3 ส.ค. 66)
- “ศาลรัฐธรรมนูญ” เลื่อนพิจารณาคำร้องเสนอชื่อ “พิธา” กรณีโหวตนายกฯ รอบ 2 โดยให้เลื่อนเป็นวันที่ 16 สิงหาคม
- “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดปมเสนอชื่อ “พิธา” เป็นญัตติซ้ำหรือไม่ โดยยังไม่มีการกำหนดวันโหวตนายกใหม่
- “พรรคเพื่อไทย” ยกเลิกเปิดตัวแถลงพรรคร่วมที่จะมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังประกาศแยกทาง “ก้าวไกล”