กทม.จับมือ ACT เดินหน้าแผนงานต้านโกงปี 2 ปฏิรูปกฎหมาย-อุดช่องโหว่ภาษี
กทม. เดินหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน ปี 2 หลังจับมือกับ ACT โชว์ 5 ร่างแผนงานร่วมกัน ทั้งปฏิรูปกฎหมาย ให้คู่ค้า-กทม.ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ต้านโกง อุดช่องโหว่ภาษีที่ดิน-ป้าย พีอาร์ ปชช.ชี้ช่องทางเบาะแส
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2566 เวลา 14.00 น. ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ครั้งที่ 7/2566 โดยมี นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงาน ก.ก. คณะกรรมการ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมได้เสนอร่างแผนงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ในปีที่ 2 ประกอบด้วย
1.การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) พัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่ทันสมัย เพื่อให้มีกฎหมายที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงานในยุคปัจจุบันและปิดช่องทางการโกง อาทิ กฎหมาย, ข้อบัญญัติ, ข้อบังคับ, และระเบียบ ฯลฯ เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมาย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักการโยธา สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานกฎหมายและคดี ดำเนินการ
2.คู่ค้าผู้รับเหมากับกรุงเทพมหานครเข้าร่วมการแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต เพราะการโกงไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงต้องกระตุ้นคู่ค้าร่วมต่อต้านการโกงทุกรูปแบบ อาทิ ขับเคลื่อนนโยบาย No Gift และ Anti-Corruption โดยต่อยอดให้คู่ค้าผู้รับเหมากับกรุงเทพมหานครเข้าร่วมการแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต มอบหมายสำนักงาน ก.ก. และทุกหน่วยงานดำเนินการ
3.อุดช่องโหว่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย โดยวิธีการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย จัดผู้ตรวจสอบสุ่มตรวจการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีป้าย มอบหมายสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักการคลัง และฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขตดำเนินการ
4.ประชาชนร่วมเป็นแนวร่วมชี้ช่องทางต้านโกง ประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้ประชาชนให้ความสนใจต่อการชี้เบาะแสการทุจริตทุกรูปแบบ มอบหมาย สำนักงาน ก.ก. สำนักงานประชาสัมพันธ์ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตดำเนินการ
5.ประชาสัมพันธ์ช่องทางชี้เบาะแสต้านโกง ได้แก่ 1. Traffy Fondue 2.สายด่วน กทม. โทร. 1555 และ 3.ส่งจดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามที่อยู่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า มอบหมาย สำนักงาน ก.ก. สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตดำเนินการ
ทั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนงาน โดยให้เพิ่มเติมข้อสังเกตจากคณะกรรมการเพื่อความสมบูรณ์และครบถ้วนของแผน ก่อนมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนงาน โดยให้นำเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป
สำหรับสถิติการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 แจ้งผ่าน Traffy Fondue จำนวนทั้งสิ้น 19 เรื่อง จำแนกตามสายงาน โยธา 4 เรื่อง เทศกิจ 3 เรื่อง สิ่งแวดล้อม 1 เรื่อง รักษาความสะอาด 3 เรื่อง การเงิน 1 เรื่อง หัวหน้าหน่วยงาน 1 เรื่อง ไม่ทราบสายงาน 4 เรื่อง และไม่เกี่ยวข้อง 2 เรื่อง รวมจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.66 รวม 180 เรื่อง