จับตา "วุฒิสภา" ลงมติเลือก "กกต." คนใหม่ หลังมี "สว."ท้วงปมอ่อนประสบการณ์
"วุฒิสภา" เข้าสู่วาระพิจารณา เลือก "กกต." คนใหม่ หลัง "ชาย นครชัย" อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมถูกเสนอชื่อ มี "สว." ท้วงปมกก.สรรหาไม่หลากหลาย- ได้คนอ่อนประสบการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานถีงการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้เข้าสู่วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบ นายชาย นครชัย อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กกต. ที่พ้นตำแหน่ง เนื่องจากอายุครบ 70 ปี เมื่อ 30 ธันวาคม 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนที่ที่ประชุมจะเข้าสู่การประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายชาย นั้น พบว่ามี สว.แสดงความเห็นโดยแคลงใจต่อการเลือกนายชาย ตามกระบวนการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
โดย พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สว. อภิปรายไม่รับรองรายงานในส่วนของกรณีที่คณะกรรมการสรรหา กกต. ซึ่งตามพ.ร.ป.กกต.ระบุว่า 3 องค์กรสำคัญ ไม่ส่งบุคคลเข้าเป็นกรรมการสรรหา คือ ศาลรัฐธรรมมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินและ คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้กรรมการสรรหา มีอยู่ 6 คนจากจำนวนที่กฎหมายกำหนดให้มี 9 คนโดยกรรมการสรรหาสรรหาได้ตั้งกติกาให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ กกต. ต้องแต่งตั้งและเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการสรรรหาภายใน 20 วันนับจากวันรับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา
ขณะที่นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. อภิปรายว่า ตนสงสัยในประสบการณ์การทำงานของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ คือ นายชาย ว่าจะมีความเหมาะสมต่อการทำหน้าที่ กกต.ที่มีบทบาทจัดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม และรับรอง สส. ที่มีหน้าที่บริหารบ้านเมืองในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากนายชายมีประสบการณ์เพียงด้านเดียวคือในกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 กำหนดให้ กกต. ต้องปฏิบัติหน้าที่เที่ยงธรรมและบริสุทธิ์ ยุติธรรม และอิสระ หากไม่ได้สัมผัสหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตรง จะทำหน้าที่สมบูรณ์หรือไม่
นายเฉลิมชัย อภิปรายด้วยว่าสำหรับการลงคะแนนเลือกบุคคลที่เข้ารับการสรรหา สำหรับ ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกกต. ลงมติเลือก 2 ครั้ง โดยครั้งแรก นายชาย ได้รับคะแนน เพียง 3 คะแนนจากกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ, กรรมการที่เสนอชื่อจากกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและ กรรมการจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขณะที่คู่แข่งคือ น.ส.ลัดดาวัลย์ จันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้3คะแนน จาก ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด และ ประธานสภา เท่ากับแต่เมื่อลงคะแนนรอบ2 พบว่านายชาย ได้คะแนนเพิ่มอีก 1 คะแนน เป็น 4 คะแนน โดยประธานสภาฯ เปลี่ยนใจลงคะแนนให้นายชาย จึงทำให้เป็นผู้รับเลือก
“ผมมองว่ากรรมการสรรหา ที่ปกติต้องมี 9 คน แต่เมื่อเหลือ 6 คนการพิจารณาไม่หลากหลาย โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่ไม่ส่งคนเป็นกรรมการสรรหา ทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินและ ป.ป.ช. ถือว่าองค์กรเหล่านั้นขาดความรับผิดชอบ” นายเฉลิมชัย อภิปราย
จากกนั้น เมื่อเวลา 13.10 น.ได้เข้าสู่การประชุมลับ.