เรื่องวุ่นๆ ของสภาฯ กับ ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน”
รธน.มาตรา106 ล็อกสเปค "ผู้นำฝ่ายค้าน" เอาไว้ ที่เก็งกันว่า "พรรคก้าวไกล" อาจรับตำแหน่งนี้ ทว่าในมุมกฎหมายและคุณสมบัติ "พิธา" อาจทำให้ พวกเขาไม่ได้ตำแหน่ง "แม่ทัพ" เพื่อขับเคลื่อนงาน
การพลิกล็อก ของ “ก้าวไกล” ที่ถูก “เกมอำนาจ” เล่นกล ซ่อนเงื่อน สยบ
พลิกล็อก ไร้ตำแหน่ง สำคัญ ทั้ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ทั้งที่วางตัว “หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ไว้แล้ว และล่าสุด คือ ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” ที่วางตัว ให้เป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
การพลาดตำแหน่งแรก เพราะเพื่อเห็นแก่ การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน กับ “พรรคเพื่อไทย” ฐานะพรรคการเมืองอันดับสอง จึงปล่อยให้ คนกลาง อย่าง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” จากพรรคประชาชาติ ที่ได้ สส.เป็นอันดับสาม ดำรงตำแหน่ง ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
ขณะที่ “หมออ๋อง” รั้งตำแหน่ง “รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง” ซึ่งในฉากทัศน์การเมืองต่อไป จะเป็นชนวนที่ส่อให้ “ก้าวไกล” พลาดตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” อีกตำแหน่ง
ส่วนตำแหน่งสอง ที่พลาดเก้าอี้นายกฯ ของ “พิธา” ซึ่งถูกเกมการเมือง เล่นงาน ทั้ง การยกข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ41 ตีตกการเสนอชื่อให้ รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ อีกรอบ หลังจากที่รอบแรกนั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบ ถึงเกณฑ์ที่จะฝ่าด่าน รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไปได้ และ ปมคุณสมบัติ ที่ขณะนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เตรียมพิจารณาในคำร้องของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.)
ดังนั้นทางที่อาจจะพอมีให้ “ก้าวไกล” ได้แสดงบทบาทนำ คือ การเป็น “ฝ่ายค้านในสภาฯ” และครอบครองตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็น ผู้นำทัพตรวจสอบฝ่ายบริหาร รวมถึงมีเวทีที่สร้างผลงานในนาม "คณะฝ่ายค้านเพื่อประชาชน" ที่มีงบประมาณรองรับ ในการจัดเวที หรือ อีเว้นท์ในแต่ละพื้นที่ เหมือนอย่างที่ "พรรคเพื่อไทย" เคยได้รับ สมัยที่เป็น "ผู้นำฝ่ายค้าน" และทำโครงการ ผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน เพื่อสร้างเรตติ้งให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่
อย่างที่บอกไป ตำแหน่งของ “ปดิพัทธ์” อาจจะเป็น “เดดล็อก” ที่ก้าวไกล ไม่ได้ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน”
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดเงื่อนไขของการได้มาซึ่งตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ไว้ดังนี้ ภายหลังที่ คณะรัฐมนตรี เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง "สส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาฯ ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด" และ "สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร" ให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา
ดังนั้นเมื่อ “ปดิพัทธ์” ยังนั่ง ตำแหน่งรองประธานสภาฯ และล่าสุด ประกาศผ่านทวิตเตอร์ OngPadipat เมื่อ 12 สิงหาคม ระบุว่า “ผมไม่ลาออกง่ายๆหรอกครับ จบนะ” พร้อมติดแฮชแท็ก #รัฐสภา #จัดตั้งรัฐบาล
อาจประเมินได้ว่า “ก้าวไกล” เอง ไม่ได้หวังกับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” มากนัก
แม้ "พิธา" จะออกตัวว่าขอเป็น "ฝ่ายค้านของประชาชน" บนเวทีปราศรัย เมื่อ 13 สิงหาคม ที่ เขาชะเมา จ.ระยอง ทว่า สถานะของ “พิธา” ตอนนี้ ที่ถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องของ “กกต.” ปม สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
หาก "ก้าวไกล" จะหวังกับ "ผู้นำฝ่ายค้าน" จริง อาจต้องรอให้ถึง การชี้ขาด และรู้ชัดแจ้งว่า ต้องเปลี่ยนตัว "หัวหน้าพรรค" ให้คนที่เป็น "สส." เข้ามาทำหน้าที่
ทว่าอาจต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะได้รู้คำตอบอย่างชัดแจ้ง
ดังนั้นการได้มาซึ่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” หลังจากมี “ครม.” ใหม่ ที่ไม่ไกลไปกว่าเดือนกันยายน นี้ อาจต้องพิจารณาจากบุคคลของพรรคอื่น
เนื่องจาก “ก้าวไกล” ยามนี้ ส่อหลุดเงื่อนไข ตามมาตรา 106 ว่าด้วย มีส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง
หากพิจารณา “พรรคการเมือง” ยกเว้น “พรรคก้าวไกล” ที่ไม่ได้บัตรเชิญ ร่วมรัฐบาล ของ “พรรคเพื่อไทย” จะประกอบด้วย
พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง ของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”
พรรคเป็นธรรม 1 เสียง ของ “ปิติพงศ์ เต็มเจริญ”
พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”
และ พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง ที่ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการหา “หัวหน้าพรรค” คนใหม่
ดังนั้นหาก “ก้าวไกล” เกาะยึดตำแหน่ง “รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง” เพราะต้องการสร้าง “การเมืองมิติใหม่” ปูทางให้การผลักดันร่างกฎหมายของ “พรรคก้าวไกล” ทำได้โดยง่ายกว่าเมื่อก่อน
จำเป็นต้องพิจารณาตัวเลือกของพรรคอื่นที่ ไม่มีสมาชิก ได้ตำแหน่ง รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ หัวหน้าพรรค ต้องเป็น “สส.”
หากพิจารณาแล้ว ยามนี้ มองยาก “ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน” จะเป็นใคร
เนื่องจากทั้ง “ไทยสร้างไทย-เป็นธรรม-รวมไทยสร้างชาติ” ไม่มีหัวหน้าพรรคที่มีตำแหน่ง สส. แม้แต่คนเดียว ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ที่ยังไม่ลงตัว และ ไม่ลงรอยเรื่อง หัวหน้าพรรคคนใหม่ หากได้ คนที่ไม่เป็น สส. อีก ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาฯชุดที่ 26 อาจเป็นสมัยแรกที่ ไร้คนดำรงตำแหน่งนี้.
#########
ทำเนียบผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย
1. ม.ร.ว.ราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่ง 22 มีนาคม 2518 - 12 มกราคม 2519 (ยุบสภา)
2. พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทยพัฒนา ดำรงตำแหน่ง 2 รอบ คือ รอบแรก 24 พฤษภาคม2526-1 พฤษภาคม 2529 (ยุบสภา) และรอบสอง คือ 30 ตุลาคม 2535 - 7 พฤษภาคม 2537 (ลาออกจากหัวหน้าพรรค)
3. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ ดำรงตำแหน่ง 4 รอบ รอบแรก 15 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2535 (ยุบสภา) รอบสอง 26 พฤศจิกายน 2540 -2 มิถุนายน 2541 (ลาออกหัวหน้าพรรค) รอบสาม 2 กันยายน 2541 - 27 เมษายน 2542 (ลาออกหัวหน้าพรรค) และ รอบสี่ 12พฤษภาคม 2542 - 9 พฤศจิกายน 2543 (ยุบสภา)
4. นายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่ง 27 พฤษภาคม 2537- 19 พฤษภาคม 2538 (ยุบสภา)
5. นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่ง3รอบ รอบแรก 4 สิงหาคม 253 - 27 กันยายน 2539 (ยุบสภา) รอบสอง 21 ธันวาคม 2539 - 8 พฤศจิกายน 2540 (รับตำแหน่งนายกฯ) รอบสาม 11 มีนาคม 2544 - 3 พฤษภาคม 2546 (ลาออกจากหัวหน้าพรรค)
6. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่ง 23 พฤษภาคม 2546 - 5 มกราคม 2548 (ครบวาระของสภาฯ)
7. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่ง 3 รอบ รอบแรก 23 เเมษายน 2548 - 24 กุมภาพันธ์ 2549 (ยุบสภา) รอบสอง 27 กุมภาพันธ์ 2551 - 17 ธันวาคม 2511 (เข้ารับตำแหน่งนายกฯ) และรอบสาม 16 กันยายน 2554 - 9 ธันวาคม 2556 (ยุบสภา)
8. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่ง 2 รอบ รอบแรก 17 สิงหาคม 2562 - 26 กันยายน 2563 (ลาออกจากหัวหน้าพรรค) รอบสอง 6 ธันวาคม 2563 - 28 ตุลาคม 2564 (ลาออกจากหัวหน้าพรรค)
9. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่ง 23 ธันวาคม 2564 - 20 มีนาคม 2566 (ยุบสภา).