รัฐบาล‘เสือ-สิงห์-กระทิง’ดุ ‘ครม.อุตลุด-นายกฯอินุงตุงนัง’
"โผครม." ที่อุตลุด หากเคลียร์ไม่จบ อาจส่งผลไปถึงการ "โหวตนายกฯ" ที่อาจอินุงตุงนังตามไปด้วย ฝั่งหนึ่งบอก "โหวตก่อนคุยที่หลัง" ขณะที่อีกฝั่งบอก "คุยจบก่อนโหวต" ท่ามกลางหมู่ “เสือ สิงห์ กระทิง” เต็มไปด้วยเขี้ยวงา
ยังคง “พัลวัลพัลเก” สำหรับสมการจับขั้ว “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” ท่ามกลางข่าวคราวเกมต่อรองระหว่างพรรคแกนนำ และพรรคแนวร่วมรัฐบาลขั้วใหม่ เกี่ยวกับการแบ่งสรรโควตารัฐมนตรี และยื่นเงื่อนไขเพื่อแลกกับการโหวต “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่30
ขณะที่วันโหวตนายกฯ ก่อนหน้านี้ มีการปล่อย 2 ฤกษ์มงคล “โหวตนายกฯ รอบ 3” ทั้งวันที่ 18 ส.ค.และวันที่ 22 ส.ค.ออกมา
เบื้องหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ให้เหตุผลถึงความเป็นไปได้ว่า ต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องมติรัฐสภากรณีเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้หรือไม่ ในวันที่ 16 ส.ค.ก่อน จึงจะให้คำตอบได้ว่า จะเป็นวันใด
แต่เบื้องลึกจริงๆวงในรัฐสภา ทั้ง “ส.ส.” และ “ส.ว.” ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า การขยับไปมาระหว่าง18ส.ค.และ22ส.ค. เกิดจากเกม “ขบเหลี่ยม-ชิงเล่ห์” กันภายในขั้วรัฐบาลพิเศษ ที่ต้องลุ้นกันแทบทุกวัน
โดยเฉพาะ “โผครม.รัฐบาลเพื่อไทย 1” ฝั่งพรรคเพื่อไทย อาทิ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกว่า โหวตนายกฯ ก่อน ค่อยคุยทีหลัง
ขณะที่ฝั่งพรรคร่วม ทั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ประสานเสียงท่วงทำนองเดียวกันว่า ควรเคลียร์ให้จบก่อนโหวตเลือกนายกฯ
ไม่ต่างจากการแบ่ง “โควตารัฐมนตรี” ที่ยังเกิดความไม่ลงตัวในหลายกระทรวง ฝั่ง “พรรค 2 ลุง” ทั้ง “พลังประชารัฐ” ยื่นเงื่อนไขต่อรองด้วยโปร “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” คือ “40 เสียงพลังประชารัฐ” พ่วงสว.สาย “ลุงป้อมผู้พี่”
โดยเฉพาะน้องลุง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่มีชื่อนั่งรองนายกฯ ควบว่าการ บางโผบอกเป็นกระทรวงกลาโหม บางโผบอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่บางโผบอกคุมรมว.หมาดไทย ตำแหน่งเดียว
ไม่ต่างจาก “ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค ที่มีชื่อติดโผทั้งรมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งหลากหลายบางพรรคหมายปอง หรือกระทรวงแรงงานเป็นต้น
เช่นเดียวกับ “รวมไทยสร้างชาติ” ยื่นเงื่อนไข “36 เสียงรวมไทยสร้างชาติ” พ่วงสว.สาย “ลุงตู่ผู้น้อง” ที่จับจองกระทรวงสำคัญโดยเฉพาะ กระทรวงพลังงาน ในโควตานายทุนพลังงาน
ขณะที่ค่าย “2 น.” คือ “น.เนวิน ชิดชอบ” และ “น.หนู อนุทิน” ดูเหมือนจะรู้สัญญาณค่าย2ลุง ไม่น้อยหน้ายื่นเงื่อนไข 71 เสียงพรรคลำดับ2ขั้วจัดตั้งรัฐบาล
ก่อนหน้าภูมิใจไทยมีความต้องการที่จะดูกระทรวงเดิม เช่น กระทรวงสาธารณะสุข ที่กำกับดูแลอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.) ซึ่งถือเปรียบเสมือนเป็นหัวคะแนนที่สำคัญของพรรค
เดิมที “อนุทิน” หวังคุมกระทรวงนี้ต่อ เนื่องจากเพิ่งวางหมากแต่งตั้งข้าราชการตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะอธิบดีไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ในส่วนของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวง ที่มีความคุ้นเคยกับ “อนุทิน” แถมยังเหลืออายุราชการถึง 2 ปีจะเกษียณอายุราชการในปี 2568 ยังสานงานต่อด้วยกันได้อีกยาว
สอดคล้องกับท่าทีของนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ที่ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่9ส.ค. ตอบโต้ข้อกล่าวหา “ฆาตกรโควิด” ซึ่งเป็นไวรัลภายหลังการประกาศจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่7ส.ค.โดยระบุในทำนองว่า การแก้ปัญหาโควิดของกระทรวง ไทยเป็นประเทศที่อาเซียนไว้วางใจจากและ ยกให้มีระบบสาธารณสุขเข้มแข็งที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย
ไม่ต่างจาก กระทรวงคมนาคม ที่ดูแลหน่วยงานสำคัญ อาทิ กรมทางหลวงวชนบท ที่จะนำโครงการสร้างถนนหนทางไปลงในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นฐานเสียงพรรคภูมิใจไทย รวมทั้ง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมี “โกเกี๊ยะ” พิพัฒน์ รัชกิจประการ คุมอยู่เดิม
แม้เพื่อไทยจะยืนยันเสียงแข็ง ไม่มีประกาศิตจาก “เศรษฐา” สั่งห้ามคุมกระทรวงเดิมตามที่มีกระแสข่าวแต่เป็นเพียงแค่พูดในหลักการ แต่ฝั่งภูมิใจไทย ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ได้รับสัญญาณห้ามคุมกระทรวงเดิมมาจาก “พรรคแกนนำ”
ล่าสุด “อนุทิน” พูดเป็นนัยว่า เวลาเราไปหาเสียง เราก็เอาผลงานจากกระทรวงเดิมที่เราเคยทำงาน ไปนำเสนอ ถ้าได้กลับมาทำงาน มันก็ถือว่ามีความต่อเนื่อง
“แต่อย่ามาบอกว่า ห้ามอยู่กระทรวงเดิม เพราะไม่โปร่งใส ใครมาพูดแบบนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมา เราทุ่มเททำงาน ไม่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสเลย ถ้าหากไม่ได้ดูแลกระทรวงเดิม ก็ต้องไม่ใช่เพราะเหตุผลนี้” สัญญาณจากอนุทิน
ฉะนั้น ด้วยท่าทีดังกล่าวบวกกับแรงยุจากลูกพรรค ซึ่งมีการมองว่า รอบนี้ภูมิใจไทยเป็นพรรคลำดับ 3 และเป็นพรรคลำดับ 2 ในขั้วจัดตั้งรัฐบาล แถมบางส่วนยังออกแนวเชียร์ “อนุทิน”มีโอกาสล้มหล่นได้เป็นนายกฯเสียด้วยซ้ำ
เช่นนี้หากไม่ได้กระทรวงเดิมก็ควรที่จะได้กระทรวงเกรดเอทดแทน โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับโผครม.บางสำนัก หรือมหาดไทยเพื่อขยายฐานจากอสม.ไปอปท.ไปให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย แต่ตำแหน่งหลังน่าจะเป็นไปได้ยากเพราะพรรคแกนนำเองก็จับจองไว้แล้ว
ไม่ต่างจาก “พิพัฒน์” ที่อาจไม่ได้กระทรวงเดิม แต่อาจเปลี่ยนเป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ดันไปทับซ้อนกับอีก 2 พรรคที่เหลือ คือ “ลูกท๊อป”วราวุธ ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา ที่หวังคุมกระทรวงเดิมเช่นกัน แถมมีอีกข่าวว่า โควตาดังกล่าวอาจเป็นโควตาพลังประชารัฐ โดยมี “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ. พัชรวาท ที่จะเป็นรองนายกฯควบด้วย
จากความชุลมุนนี้ทั้งส.ส.และส.ว.จึงประเมินว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้จากเดิม "แกนนำพรรคเพื่อไทย" วาง “ฤกษ์มงคล 18 ส.ค.” โหวตนายกฯ รอบ 3 อาจดึงเกมเปลี่ยนไปเป็น 22 ส.ค. หวังทอดเวลาเคลียร์บรรดาพรรคการเมืองให้จบ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะส่งผลให้การโหวต“เศรษฐา” เป็นนายกฯ คนที่ 30 เป็นอันต้องต้องอินุงตุงนังตามไปด้วย
สอดคล้องกับกระแสข่าวก่อนหน้า เกี่ยวกับดีลที่ไม่ลงตัว พรรคร่วมจึงเรียกร้องให้เปลี่ยนตัว “เศรษฐา” เป็น“อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร”แทน ก่อนที่ต่อมาเพื่อไทยจะออกมาสยบข่าวลือดังกล่าว ยืนยันเสียงแข็ง ดัน “เศรษฐา”เป็นนายกฯ คนที่ 30 อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันเพื่อไทยเองก็คงรอสัญญาณบางอย่างมาจาก "ใครคนใดคนหนึ่ง" ในการเลือกวันโหวตนายกฯ ต่อให้ช่วงห่างจะแค่2-3วันแน่นอนว่าการเลือกวันใดวันหนึ่งสะท้อนนัยการเมืองอย่างน่าสนใจ
ฉะนั้นด้วยบรรดา เกม“ขบเหลี่ยม-ชิงเล่ห์” ที่เกิดขึ้นยามนี้ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพการจัดตั้งรัฐบาลที่เต็มไปด้วย "เสือ สิงห์ กระทิงดุ" บางตำราเปรียบสำนวน “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” ออกไปในแนวกร่นด่าเหน็บแนม
แต่อีกความหมาย “เสือ สิงห์ กระทิง” คือสัญลักษณ์ของความเข็มแข็ง ยากต่อการต่อกร หากเปรียบการจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้ คือ "เสียง" ที่มีอยู่ในมือที่น่าจะมีเพียงพอต่อการโหวตแบบเหลือๆ แต่ก็เต็มไปด้วยเขี้ยวงาหากไม่ระวังก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน!