‘ก้าวไกล’ ลุยยื่นญัตติสภาฯ ทบทวนปมโหวตนายกฯซ้ำ ไม่ให้องค์กรอื่นยุ่ง
‘ก้าวไกล’ ลุยต่อ! ชงญัตติต่อสภาฯ ทบทวนปมโหวตชื่อนายกฯซ้ำ ‘โรม’ ยันเป็นอำนาจของสภาฯ ไม่ได้ให้องค์กรอื่นมายุ่ง ลั่นไม่ได้ตีรวนทางการเมือง แต่ทุกพรรคได้ประโยชน์ เว้นพวกหวังสกัดพรรคส้ม ปูทางนายกฯคนนอก เตือนอย่าเผาบ้านเพื่อไล่หนู
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้หรือไม่ ว่า พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่ากรณีแบบนี้เป็นกรณีที่สภาควรจะว่ากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอกอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา อะไรก็ตามที่มันทำไม่ถูกต้องและทำผิดไปโดยหลักการทั้งหมด สภาของเราก็มีอำนาจในการที่จะแก้ไขปรับปรุง จึงเป็นที่มาว่าในการจะต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีตั้งแต่สัปดาห์ก่อนนั้น พวกเราจึงมีมติว่าจะเสนอญัตติ ก็มีการรับรองถูกต้องเพื่อให้สภาได้มีการทบทวนว่าการที่สภาเคยมีมติว่าญัตติที่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ซ้ำไม่สามารถทำได้ มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เราได้เสนอญัตตินี้และได้มีการรับรองถูกต้องแล้ว ดังนั้นในโอกาสที่จะมีการเลือกนายกฯ ต่อไป ที่ต้องรอประธานรัฐสภาในกำหนดวาระการประชุมต่อไป ทางเราก็ยืนยันที่จะเสนอญัตตินี้ต่อไป และหวังว่ากระบวนการตรงนี้จะทำให้สภาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยืนยันว่าการที่เราเสนอแบบนี้ไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง เชื่อว่าทุกคนรู้ว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จะเสนอนายกฯ ได้แล้ว แต่เราหวังว่าการเสนอตรงนี้มันจะเป็นการทำให้สภาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นเอง เพราะเรายืนยันว่าสถานะของการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่มันเป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ว่าพอเสนอกันไปแล้วสุดท้ายเคาะไม่ผ่านรอบแรก คุณจะมาบอกว่าสถานะนั้นไม่มีอีกแล้ว การพิจารณาและคิดกันแบบนี้มันคือการเล่นการเมืองโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางข้อกฎหมาย โดยจะมีกระบวนการให้สภาได้ทบทวนต่อไป ดังนั้นถ้าประธานสภาได้มีการเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องของนายกฯ เราก็ยังยืนยันในการเสนอญัตตินี้ต่อไป
ส่วนจะมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเองหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรายืนยันมาตลอดว่าเรื่องนี้เป็นกิจการของสภา ดังนั้นจะไม่เห็นนายพิธา เสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เมื่อถามว่าเสียงจะพอหรือไม่เพราะตอนนี้พันธมิตรที่จะร่วมรัฐบาลก็แยกวงไปแล้ว นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คิดว่ามันเป็นเรื่องหลักการ การเสนอตรงนี้ไม่ได้เสนอเพื่อตัวเอง เราไม่ได้เสนอให้นายพิธากลับมามีโอกาสเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกซ้ำ เพราะเราอยู่ในสถานการณ์ที่วันนี้นายพิธาไมได้อยู่ในจุดนั้นแล้ว แต่การเสนอแบบนี้มันเป็นหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าแคนดิเดตนายกฯ จะชื่ออะไร และจะเป็นใครก็ได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น
“เว้นเสียแต่ว่ามีบางกลุ่มบางพวกที่คิดเอาไว้แล้วที่จะต้องการวางสนุ๊กวางหมากให้การเสนอนายกฯ เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.เพื่อให้พรรคการเมืองอย่างก้าวไกลไม่ผ่าน และอาจจะเป็นพรรคการเมืองบางพรรคไม่ผ่าน แล้วก็หวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ 2.เป็นการปูทางไปสู่นายกฯ คนนอก แต่ก็ต้องยอมรับว่านายกฯ คนนอกก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะจะไปสู่จุดนั้นได้มันก็ต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ผมคิดว่าการเสนอให้โหวตนายกฯ ได้แค่ครั้งเดียวไม่ใช่เจตนาที่ดีแน่ๆ” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจะทำให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทำได้แค่ครั้งเดียวหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตนกังวลว่ามันจะไปสู่จัดนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตนต้องขอให้มีการทบทวน เพราะถ้าเกิดว่ามันกลายเป็นบรรทัดฐาน ต้องเรียนว่าการเสนอชื่อบุคคลในรัฐสภามันไม่ได้มีแค่นายกฯ มันมีอีกหลายๆ กรณี และเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้นขอว่าอย่าสร้างบรรทัดฐานแบบนี้เลย จึงเป็นเหตุผลว่าเราอยากจะขอให้สภาทบทวน และเห็นว่าเป็นอำนาจที่ทำได้ อย่าสร้างบรรทัดฐานที่ผิดต่อไปเลย อย่างไรก็ตามจากการประชุมสภาครั้งที่แล้ว โดยหลักจะต้องพิจารณาญัตติของตนก่อน แต่ว่ามันก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของประธานสภาที่มีการถกเถียงกันแล้วสุดท้ายนำไปสู่การปิดประชุมมันมีสถานะอย่างไร จึงต้องมีการพูดคุยหารือกับประธานสภาว่าจะมีข้อสรุปเรื่องนี้อย่างไร
“ผมมองว่ารอบที่แล้วจุดประสงค์มันคือต้องการทำลายพรรคก้าวไกล ต้องการที่จะเล่นงานคุณพิธา แต่เราจะเผาบ้านเพื่อไล่หนูหรือ ดังนั้นวันนี้คุณก็ได้ทุกอย่างไปหมดแล้ว คำถามก็คือแล้วคุณจะยังเผาบ้านต่อไปเพื่ออะไร การกลับมาสู่หลักการที่ถูกต้อง เราหวังว่าเราจะสามารถทำให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายที่ประชุมจะว่าอย่างไร แต่เราก็บอกว่าแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับกรณีนี้แต่เราต้องไม่ปฏิเสธว่ามีนักวิชาการเข้าชื่อกันกว่า 100 ชื่อ ที่เขาบอกว่าการกระทำของสภาไม่ถูกต้อง รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นไปในทางนั้น ส่วนที่ไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องของกระบวนการ ดังนั้นสภาก็ควรพิจารณาทบทวนในสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจไปแล้ว” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลายื่นแก้ข้อกล่าวหากรณีใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หาเสียงเป็นการล้มล้างการปกครอง ว่า มั่นใจในเรื่องพยานหลักฐานและการต่อสู้คดี ดังนั้นจึงไม่กังวลในเรื่องการยุบพรรค มั่นใจว่ากระบวนการที่เราทำมาเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด มาตรา 112 เคยมีการแก้มาแล้วโดยตลอด คนท้ายๆ ที่แก้ล่าสุดก็คือคณะรัฐประหาร ดังนั้นถ้าการแก้มาตรา 112 ที่ผ่านมาทำได้ก็อยากขอความเป็นธรรมกับพวกเราด้วยว่าเจตนาของพวกเราคือการกระบวนการปกติในการแก้กฎหมายเท่านั้นเอง