‘ก้าวไกล’ ยังไม่เป็นฝ่ายค้านรอคดี ‘พิธา’ คลี่คลายนัด สส.เคาะโหวตนายกฯ 21 ส.ค.
‘ศิริกัญญา’ เผย ‘ก้าวไกล’ ทำงานเต็มที่ ไม่ว่าอยู่สถานะไหน ยังไม่รีบเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ รอคดี ‘พิธา’ คลี่คลายก่อน เผย 21 ส.ค. นัดประชุม สส.พรรค กำหนดทิศทาง คาดโหวตไม่เห็นชอบ แคนดิเดตนายกฯ ‘เพื่อไทย’ รับตรงๆ ผิดหวัง ไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 ที่พรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในการโหวตนายกรัฐมนตรี หลังพรรคเพื่อไทย จับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า คงจะมีความชัดเจนแล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลน่าจะมีพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่ามีครบ 314 เสียงก็น่าจะมีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาเป็นพรรคสุดท้าย จึงคิดว่าไม่น่าจะเหลืออะไรแล้วที่จะต้องงดออกเสียง ก็คงจะไม่เห็นชอบ ทั้งนี้ก็ต้องมีมติที่ประชุม สส.ออกมาอีกครั้งในวันจันทร์ ที่ 21 ส.ค.ว่าจะโหวตกันไปในทิศทางใด
ส่วนรู้สึกอย่างไรหลังจากที่พรรคเพื่อไทย จับมือกับพรรคร่วมไทยสร้างชาติ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า คาดเดาได้มาเป็นระยะ สัญญาณออกตอนที่เชิญไปพูดคุยกันที่พรรค มีการจิบน้ำช็อกมินต์กัน ก็เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าอาจจะต้องมีการเข้าร่วมรัฐบาลจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว พอจะเดาทิศทางได้ และยอมรับว่า ผิดหวังไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้ ถ้าแพ็กกันแน่นๆ ก็คงจะต่อสู้กับอำนาจนอกระบบ หรืออำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจากเสียง สว.ได้
เมื่อถามว่า มองอย่างไรบ้างที่ใช้คำว่ารัฐบาลแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าประเทศเดินหน้าไปได้ ก็น่าจะออกได้หลายทางไม่ใช่ทางนี้ แต่ถ้าจะเป็นการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง เราก็ยินดีด้วยว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองฝั่งจะไม่ทะเลาะกัน ไม่ต้องมีความขัดแย้งแล้ว และก็คงจะไม่สร้างคู่ขัดแย้งใหม่ขึ้นมา ถ้าเป็นรัฐบาลแห่งชาติจริง ก็คือ ไม่ได้ทะเลาะตบตีกับเพื่อไทยแล้ว มาทะเลาะตบตีกับก้าวไกลแทน แบบนี้ เป็นต้น
ส่วนพร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตอนนี้ก็เริ่มทำงานแล้ว และพร้อมทำงานเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ถึงไม่ได้เป็นรัฐบาล ประชาชนก็เข้าใจ และให้กำลังใจมาโดยตลอด และไม่ว่าจะอยู่สถานะไหน เขาก็พร้อมเป็นโหวตเตอร์ให้พรรคก้าวไกล เมื่อได้ยินแบบนี้เราก็สู้ตาย เริ่มทำงานในฐานะฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ งานในสภาฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ต้องมีฝ่ายอยู่แล้ว เดินหน้ายื่นกฎหมายมาเป็นระยะๆ และเดินหน้าตรวจสอบหน่วยงานรัฐตามปกติ
เมื่อถามว่าจะเรียกว่า พรรคก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้หรือยัง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า วันนี้สถานะของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังอยู่ระหว่างการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นก็จะไม่มีหัวหน้าพรรคในสภา และพรรคก้าวไกลก็ยังไม่รีบที่จะตัดสินใจว่าจะเอาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ รอให้คดีของนายพิธา คลี่คลายก่อน แล้วค่อยมาคุยกัน แม้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อน ก็ไม่ได้มีผลอะไร เพราะสถานะของผู้นำฝ่ายค้านไม่มีผลอะไรในการทำงานในฐานะฝ่ายค้านเลย แต่อาจจะมีผลในเรื่องการเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ
“เมื่อหัวหน้าพรรคของเรายังไม่ได้เข้าสภา เราก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
เมื่อถามว่าประเมินอย่างไรบ้าง ในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้จะอยู่ได้กี่ปี น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เอาแง่ดี ถ้าสามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จาก สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งสำเร็จก็จะยุบสภาทันที ดังนั้นกรอบเวลาก็ค่อนข้างที่จะชัดเจน ก็ขึ้นอยู่กับอายุของ สสร.ว่าจะมีอายุเท่าไร เช่น ถ้า สสร.ทำงาน 6 เดือน รัฐบาลก็จะมีอายุได้ 2 ปีก็น่าจะจบแล้ว ถ้ากรอบระยะเวลาของ สสร.ยาวออกไป ก็น่าจะนานกว่านั้น ทั้งนี้ก็ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้ทำงานดูว่าจะมีข้อขัดแย้งกันเองอย่างไร หรือไม่แล้วยุบสภาก่อนโดยที่ยังไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญแก้เสร็จ แต่ไม่ถึง 4 ปีแน่นอน เพราะกรอบระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญยังไงก็ไม่ถึง 4 ปี ถ้าเกิน 4 ปีคือ มีเจตนาที่จะยืดระยะเวลาออกไป
ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.มองอย่างไร เพราะ สว.ก็เริ่มออกมาแบไต๋ว่าจะไม่โหวต ให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เดายากมาก เพราะตอนนี้เราก็นั่งอยู่วงนอก ได้แต่คอยดูว่าข่าวจะเป็นอย่างไร และแน่นอนว่าอาจจะมี สว.บางส่วนออกมาพูดชัดเจนว่าอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และเชื่อว่าไม่ใช่ สว.ทั้งหมด และยังเอาใจช่วยให้การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี
เมื่อถามว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเลือกในตอนนี้ จะมีผลกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย การตัดสินใจอะไรไปมันจะต้องมีผลที่จะตามมาแน่นอน
“เราก็ได้พูดไปบ้างแล้วว่า การตัดสินใจครั้งนี้มันมีราคาที่จะต้องจ่าย ไม่ได้หมายความว่าเอาเงินไปจ่าย แต่มันมีต้นทุนที่สูงมากที่เขาจำเป็นจะต้องแบกรับไว้ และการไม่ฟังเสียงของประชาชน หันหลังให้คำสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน มันคงต้องมีอะไรตอบแทนไปมากกว่าการจัดตั้งรัฐบาล ที่อยู่เบื้องหลังที่เขาจำเป็นจะต้องทำ ก็คงต้องพยายามทำความเข้าใจ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์