ประเทศไทยกำลังจะมีฝ่ายค้านก่อนฝ่ายรัฐบาล
อันนี้ไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริงเกือบสี่เดือนมาปรากฎความจริงเช่นที่จั่วหัวเรื่องบทความในวันนี้ไว้ การเมืองสำหรับผมมี “ความแน่นอน” และ “ชัดเจน” เพราะเคยเขียนให้ท่านทั้งหลายทราบก่อนหน้านี้แล้วว่า “ข่าวลือ” ทั้งหลายอืออึงมาตั้งแต่ช่วงโควิทระบาดหนัก
ผมไม่ได้ใส่ใจเพราะคิดว่า คงเป็นเพราะคนมีเวลามากไม่มีอะไรทำเลยคิดอะไรกันไปเลอะเทอะ แต่กลายเป็นว่าเรื่องที่ผมได้ยินมาเมื่อหลายปีก่อน กลายเป็นความจริงอย่างเดาทุกฉากทุกตอนของละครน้ำเน่าที่เราคุ้นชินตามทีวีสมัยก่อน
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ได้ยื่นคำร้องมานั้น สะท้อนอะไรหลายอย่างในแวดวงบ้านเมือง สังคมของพวกเราว่า ความเป็นพวกเป็นก๊กเหล่า เป็นคนของใครมีความสถาวรมั่นคงยิ่งนัก ทำเอานักวิชาการหลายคน ขนาดยอมฉีกตำราออกมาให้ความเห็นหรือกระทำการที่สุ่มเสี่ยงต่อชื่อเสียงที่สั่งสมมายาวนาน
แต่เมื่อเป็น “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน ย่อมมีคนให้ความเห็นวิจารณ์การทำงานของทุกท่านได้ตามแนวทางเดียวกับศาลยุติธรรมและศาลอื่นๆ หากการวิจารณ์นั้นๆ เป็นไปด้วยความบริสุทธ์ใจมีความสุจริตไม่อคติเพราะกิเลศทั้งสี่ คือ รัก โลภ โกรธ หลง
ผลดังกล่าว ทำให้การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกระทำได้ต่อไป แม้เพื่อไทยจะเสนอชื่อ คุณเศรษฐา ทวีสิน แต่โอกาส ณ วันนี้เหลือน้อยมาก หากเพื่อไทยยังจะยืนกรานตามแนวทางเดินเกมการเมืองที่เหลืออยู่ เพราะนั่นคือ การพาคุณเศรษฐา ให้ถูกเชือดสดๆ กลางสภา ด้วยข้อกล่าวหี่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาโดยจอมแฉเจ้าเก่าดั้งเดิม คือ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
น่าเสียดายที่ข้อกล่าวหาหลายประการ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ที่คนอคติกับคนร่างรัฐธรรมนูญสาดเสียเทเสียว่า “เลวบ้าง” “ห่วยแตก” ก็มี แต่พวกเรามีความอดทนและไม่ออกมาโต้เถียงหากไม่จำเป็นหรือไม่หลงเข้ารกเข้าพงกันไปไกลเกิน
เรากำลังจะมี “พรรคก้าวไกล” เป็นฝ่ายค้าน ที่หลายคนอาจเชื่อว่าจะเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์หลายเรื่อง
ทั้งในส่วนของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ที่ศาลอนุญาตให้มีการขยายเวลาชี้แจงและนำหลักฐานมาต่อสู้ออกไปอีก 30 วัน ยิ่งชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลน่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาลเด่นชัดขึ้น
นอกเหนือจากที่คุณชัยธวัช เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมายืนยันว่า พรรคก้าวไกลจะไม่โหวตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคำพูดที่ผมให้ความ “นับถือ” เพราะจะเป็นการสลัด “ภาพจำ” ของคนจำนวนมากต่อพรรคก้าวไกล ที่มองว่าทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล เป็นสายเลือดสืบตระกูลกันมา ตั้งแต่ “ไทยรักษาชาติ ยุบมาเป็น อนาคตใหม่ และก้าวไกลในที่สุด”
ในรอบนี้มีนักการเมืองหลายคนที่ผมรู้สึกไม่ชอบใจ แม้ว่าจะต้องเดินตามแนวทางยุทธศาสตร์การเมือง ที่หลายคนเอาไปแปลแบบง่ายๆ ว่า “เกมการเมือง” ของบางฝ่าย เพราะการที่คนเราพูดหลายๆ ครั้ง แล้วเรื่องไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ยังต้องออกสื่อ ต้องปรากฏตัว หากเขาสัมผัสได้จะรู้ทันทีว่ามันน่าจะต้องระคายเคืองอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของตนเองพอสมควร
ด้วยเสียงก่นด่า เสียงประณามจากคนที่รักชอบทุ่มเทกายใจให้กับพรรค เขาจะเสียความรู้สึกและต้องการอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่า มองที่ผลประโยชน์ของคนในวงศ์วานมากกว่าส่วนรวม กระทั่งทำให้คนคิดไปว่า ตำแหน่งสำคัญบางทีเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชม และหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายอยู่ในวงศ์วานบางครอบครัวเท่านั้น
เรื่องน่าสนใจอีกประการคือ ระยะหลัง คนที่อาจไม่ได้อ่านหรือไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างถ่องแท้ ได้ออกมาให้ความเห็นและโยนบาปให้กับรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไม่เป็นธรรม
โดยเฉพาะข้อคิดของคนหลายคนที่อาจไม่ทราบว่า มาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญได้ห้ามบุคคลใดๆ ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ได้อยู่ในฟากฝั่งรัฐบาล เข้ามาทำหน้าที่ “รองประธานรัฐสภา”
อันนี้ ผมกล้ายืนยันความจริงเพราะเป็นคนมีส่วนยกร่างมาตรานี้ในเวลานั้น เพราะเห็นว่า การทำงานของรัฐสภาควรเดินไปด้วยความสมานฉันท์ปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่ “การเมือง” เป็นเรื่องของ “พรรคพวกเพื่อนพ้อง” ทำให้กังวลว่า หากให้เกิดการผสมผสานของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านในการทำหน้าที่สำคัญนี้ อาจสร้างความขัดแย้ง หรืออาจเกิดการใช้อำนาจประธานรัฐสภาไปในทางการเมืองมากกว่าการมุ่งให้เกิดผลดีต่อกิจการรัฐสภา
จึงไม่ได้เขียนชัดๆ ว่า “ห้ามไม่ให้ฝ่ายค้านเป็นรองประธานรัฐสภา” เพราะมันน่าเกลียด และดูจะไม่ให้เกียรติเขามากไป แต่ลองไปอ่านดูจะเห็นวิธีเขียนของเราก็คงพอทราบ
นั่นหมายความว่า “คุณหมออ๋อง” เวลานี้ยังพอรอได้ เพราะยังไม่มีการเสนอโปรดเกล้าฯ ให้คนของพรรคก้าวไกลเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” และรัฐบาลเขาก็ยังตั้งไม่เสร็จ แม้ในทางปฏิบัติก็มองได้ว่าดูจะขัดๆ กับรัฐธรรมนูญอยู่พอสมควร ดีที่ภารกิจที่ผ่านมายังไม่ได้อาศัยใช้บริการ “คุณหมออ๋อง” เท่าที่ควร
จึงเขียนมาเพื่อขอทำความเข้าใจกับหลายๆ ฝ่าย หลายๆ คน ที่อาจต้องขอร้องให้ลองไปทบทวนรัฐธรรมนูญปี 2560 กันอีกสักครั้งเถิด.