ที่ประชุม สส.ก้าวไกล มีมติ 'ไม่เห็นชอบ' แคนดิเดตนายกฯ 'เพื่อไทย' 22 ส.ค.

ที่ประชุม สส.ก้าวไกล มีมติ 'ไม่เห็นชอบ' แคนดิเดตนายกฯ 'เพื่อไทย' 22 ส.ค.

มติที่ประชุม สส.ก้าวไกล ลงมติเอกฉันท์ ไม่เห็นชอบ 'เศรษฐา' แคนดิเดตนายกฯ 'เพื่อไทย' 22 ส.ค.นี้ เหตุ 'รัฐบาลผสมข้ามขั้ว' ชี้ไม่ช่วยลดความขัดแย้ง แต่เป็นการสยบยอม-ต่อลมหายใจให้กับระบบการเมือง ที่ไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในช่วงเย็น มีการประชุม สส.ก้าวไกล โดยมีนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาในประเด็นการโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ส.ค. 2566 โดยพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เพื่อให้รัฐสภาลงมติว่าจะเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

 

โดยผลปรากฏว่าที่ประชุม สส.ก้าวไกล มีมติว่าในวันที่ 22 ส.ค. จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน คือลงมติไม่เห็นชอบแคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอมา

ล่าสุด นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงหลังที่ประชุม สส. มีมติจะออกเสียง 'ไม่เห็นชอบ' ต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลผสมข้ามขั้ว เพื่อแสดงจุดยืนตามเหตุผลต่อไปนี้

1.เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ได้รวมเอาพรรคสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ มาร่วมรัฐบาลด้วย เท่ากับขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกอย่างชัดเจนไปแล้วผ่านการเลือกตั้ง ว่าต้องการพลิกขั้วรัฐบาล ยุติการสืบทอดอำนาจ

2.พรรคก้าวไกลยืนยันอีกครั้งว่า การโหวตไม่เห็นชอบให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีผสมข้ามขั้วนั้น เราไม่ได้พิจารณาบนพื้นฐานของคุณสมบัติของตัวแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการตัดสินใจบนจุดยืนทางการเมืองและคำมั่นสัญญาที่พรรคก้าวไกลได้ให้ไว้กับประชาชนคือ “มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา” ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่สามารถตระบัดสัตย์ต่อประชาชนได้

3.พรรคก้าวไกลเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่การลดเงื่อนไขความขัดแย้ง หรือเดินหน้าประเทศไทยต่อโดยมีวาระของประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่นี่เป็นการสยบยอมและต่อลมหายใจให้กับระบบการเมืองที่ไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน