กสม.ลั่นงานคุ้มครองสิทธิไม่มีวันจบ พบปี 65 ร้องทะลุพันเรื่อง
ประธาน กสม.ลั่นงานคุ้มครองสิทธิไม่มีวันจบ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย ย้อน 20 ปีที่ผ่านมาผลงานเชิงประจักษ์เพียบ พบปี 65 ร้องเรียนทะลุ 1 พันเรื่อง ประเด็นสิทธิ-สถานะบุคคลแชมป์
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวระหว่างเปิดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน”ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่า ด้วยสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ การคุ้มครอง ส่งเสริมแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งกสม.ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานเชิงประจักษ์ อาทิ ผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การขับเคลื่อนกฎหมายรับรองสิทธิกลุ่มต่างๆ ผลักดันให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ แก้ไขปัญหากลุ่มพระภิกษุ กลุ่มคนไร้สัญชาติ หรือกลุ่มอื่นที่อาจจะถูกทอดทิ้งไว้ ล่าสุดมีการแก้ไขทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นต้น
น.ส.พรประไพ กล่าวอีกว่า ภารกิจของกสม.และเครือข่ายคงยังไม่สำเร็จในเร็ววัน เพราะยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งไม่เจตนา ไม่เข้าใจ หรือละเมิดกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนประเด็นท้าทายไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคมผู้สูงวัย การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง จึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อเนื่องทั้งในรายประเด็น การปรับโครงสร้าง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกสารประกอบการประชุม มีรายงานปีงบประมาณ 2565 มีเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชน 1,149 เรื่อง โดย 3 อันดับแรกคือ เรื่องสิทธิและสถานะบุคคล 402 เรื่อง คิดเป็น 34.99 % สิทธิในกระบวนการยุติธรรม 152 เรื่อง คิดเป็น 13.23 % และสิทธิชุมชน 59 เรื่อง คิดเป็น 5.13% ส่วนประเด็นสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ส่วนพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ ภาคตะวันออก 313 เรื่อง คิดเป็น 27.24% กทม.203 เรื่อง คิดเป็น 17.67% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 178 เรื่อง คิดเป็น15.49 %