'อุปกิต' ใช้เอกสิทธิ์ สว.คุ้มครอง ลุ้น 28 ส.ค.อสส.นัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่
รองโฆษกอัยการฯ เผย อสส.มีคำสั่งคดี 'อุปกิต' ปมกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน-อาชญากรรมข้ามชาติแล้ว แต่ผู้ต้องหาใช้เอกสิทธิ์ สว.คุ้มครอง ระหว่างเปิดสมัยประชุมสภา รอลุ้น 28 ส.ค.นี้ นัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษก อสส.) เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่ สำนักงานอัยการสูงสุด เเผนกคดียาเสพติด นัดฟังคำสั่งนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ร่วมกันฟอกเงิน และมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จากการค้ายาเสพติดของเครือข่าย "ทุน มิน ลัต" นักธุรกิจชาวเมียนมาร์ ซึ่งเดิมสำนักงานอัยการสูงสุด มีกำหนดนัดฟังคำสั่งในวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า เดิมเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางพนักงานอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด ได้นัดฟังคำสั่ง เเต่นายอุปกิต ก็ได้เเจ้งขอเลื่อนนัดฟังคำสั่ง โดยเเจ้งเหตุว่า อยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา จึงได้สิทธิ์รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งทางอัยการต้องพิจารณา ให้เลื่อนออกไปก่อนตามกฎหมาย เป็นวันที่ 28 ส.ค.นี้
นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ อัยการสูงสุดได้ตรวจสำนวน เเละมีคำสั่งเด็ดขาดในคดีเรียบร้อยเเล้ว เเต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดคำสั่งได้ จนกว่าจะถึงวันนัดฟังคำสั่ง เพื่อเเจ้งให้ต่อ นายอุปกิต โดยวันดังกล่าว หาก นายอุปกิต ขอเลื่อนคดี ทางพนักงานอัยการ ก็จะพิจารณาตามกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 บัญญัติเรื่องความคุ้มกันสมาชิกสภาผู้เเทนฯ ไว้ว่า ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวน ในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภา ที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด
กรณีที่มีการฟ้องสมาชิกรัฐสภา ในคดีอาญา ไม่ว่าจะฟ้องในหรือนอกสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมมิได้ (ฟ้องร้องได้แต่พิจารณาคดีไม่ได้) ยกเว้น 2 กรณี คือได้รับอนุญาตจากสภา ที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือ กรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา, พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือ พรป.พรรคการเมือง
แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวาง ต่อการที่สมาชิกผู้นั้น จะมาประชุมสภา ซึ่งการคุ้มกันนี้จะคุ้มครองเฉพาะบุคคล ที่มีสถานภาพเป็นสมาชิกรัฐสภา เฉพาะกรณีของคดีอาญา เป็นเพียงการคุ้มครองชั่วคราว ในระหว่างสมัยประชุมเท่านั้น เมื่อพ้นสมัยประชุมการคุ้มกันนี้จะหมดไปด้วย