พท.รับเรื่อง 'ไอลอว์' แนบชื่อ ปชช.กว่า 2 แสน เสนอคำถามประชามติร่าง รธน.ใหม่
'แกนนำพรรคเพื่อไทย' รับเรื่อง 'ไอลอว์' แนบรายชื่อ ปชช.กว่า 2 แสนชื่อ เสนอคำถามทำประชามติร่าง รธน.ใหม่ ให้ทัน ครม.นัดแรก ห่วง กกต.ตรวจสอบไม่ทัน 'ชลน่าน' รับปากนำคำถามไปพิจารณากับพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ห่วงแม้ต้องใช้งบมาก
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย รับหนังสือจาก น.ส.จีรานุช เปรมชัยพร ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ที่ต้องการขอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จัดทำประชามติรัฐธรรมนูญด้วยคำถามที่ไม่มีเงื่อนไข โดยได้แนบคำถามที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ และตัวเลขแสดงจำนวนรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน
พร้อมอ้างอิงแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศตอนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญคือการเร่งแก้รัฐธรรมนูญโดยการจัดให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตั้งแต่การประชุม ครม.นัดแรก แม้ว่ากลุ่มประชาชนจะเห็นนิมิตหมายอันดีและเห็นความตั้งใจของพรรคการเมือง แต่ยังมีความกังวลว่าในการทำประชามติอาจมีการออกแบบคำถามที่มีเงื่อนไข หรือให้บุคคลที่จะยกร่างมาจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม อาจจะทำให้ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนและไม่นำไปสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง
โดยรวบรวมรายชื่อประชาชน 205,739 รายชื่อ แนบอ้างอิง เพื่อประสงค์ที่จะเสนอคำถามในการทำประชามติการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และหากจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยอ้างใช้สิทธิตามมาตรา 9(5) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติปี 2564
ขณะเดียวกันยังอ้างว่าการอ้างอิงจากจำนวนประชาชนที่มากเช่นนี้เนื่องจากกลุ่มไม่มั่นใจว่าสำนักงาน กกต. จะตรวจสอบรายชื่อด้วยความรวดเร็วและเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม. ได้ทันการประชุม ครม. นัดแรกจึงนำคำถามมายื่นต่อพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อนำสู่การพิจารณาใน ครม.นัดแรก ทั้งนี้คำถาม ที่เสนอมานั้นระบุว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้ช่องทางกฎหมายทำประชามติที่ผ่านกระบวนการสภาฯ และขอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดำเนินการทำประชามติทันทีในการประชุมครั้งแรก หากผ่านได้ก็จะใช้มาตรา 256 แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ส่วนข้อคำถามที่กลุ่มไอลอว์เสนอมา หากมีประโยชน์ก็จะนำไปพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงหากเป็นคำถามที่ชัดเจนก็จะทำให้คณะรัฐมนตรีทำงานได้ง่ายขึ้น พร้อมย้ำว่า แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดของพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนตัวจึงได้เสนอพรรคไปว่า ก่อนอื่นจะต้องทำประชามติเสียก่อน ว่า ประชาชนประสงค์จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าได้ถามประชาชนแล้ว ขณะเดียวกันจะถามประชาชนไปพร้อมกันว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รวมถึงจะให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น
ส่วนที่หลายฝ่ายข้อกังวลว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะใช้งบประมาณมากหรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าถ้าทำเพื่อประชาชน และสิ่งที่จะได้มา คือ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่