เอฟเฟกต์ทรัมป์ฉุด ‘บาทอ่อน’ นักลงทุนโยกสินทรัพย์กลับสหรัฐ
เงินบาทอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 3 เดือน นักเศรษฐศาสตร์มองแนวโน้มยัง “อ่อนค่า” ได้ต่อ “ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้ค่าบาทมีสิทธิอ่อน 36 บาทต่อดอลลาร์ ถึงกลางเดือนธ.ค.นี้ เหตุนักลงทุนโยกเงินถือดอลลาร์เข้าสหรัฐต่อเนื่อง
โลกเศรษฐกิจการเงินยังสั่นสะเทือนไม่หยุดจากเอฟเฟกต์ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เพิ่งได้รับชัยชนะล่าสุด โดยเฉพาะการเคลื่อนย้าย “สินทรัพย์” หรือการโยกเงินลงทุนกลับสหรัฐ นักลงทุนมองว่าจะเป็น “สมรภูมิ” ที่ได้ประโยชน์มากสุดจากนโยบายทรัมป์ระยะข้างหน้า
ส่งผลให้เห็นการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนการโยกย้ายสินทรัพย์กลับสู่ตลาดสหรัฐอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเงินไหลออกจากตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ทั่วโลก หรือแม้แต่การลงทุนที่เริ่มเห็นการประกาศย้ายฐานผลิตเพื่อรับอานิสงส์ และรับผลกระทบจากการมาของทรัมป์แล้ว
ที่เห็นชัดเจนคือ ผลกระทบส่งผ่านสู่ “ค่าเงินบาท” ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง “ห้องค้าเงินกสิกรไทย” ระบุว่า หากเทียบจากวันที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งวันที่ 4 -14 พ.ย. พบว่า สกุลเงินเกือบทุกสกุลอ่อนค่าหมดหากเทียบดอลลาร์ ค่าเงินบาท อ่อนค่าลง 3.9% จากระดับ 33.713บาทต่อดอลลาร์ มาสู่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ในปัจจุบัน ถือเป็นระดับเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 เดือน
เงินบาทจ่ออ่อนค่าแตะ 36 บาทต่อดอลล์
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า หากมองในระยะสั้น คาดว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ถึงในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ จากการโยกย้ายเงินทั่วโลกกลับไปสู่สหรัฐ โดยเฉพาะเข้าตลาดหุ้นสหรัฐ จากนโยบายทรัมป์ ที่จะมีการลดภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทในสหรัฐ
แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าลากยาว จะเห็นการกลับทิศกลับมาแข็งค่าได้ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหลังประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่คาดมีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น รวมถึงหลังทรัมป์รับตำแหน่งอย่างเป็นทาง ที่จะทำให้นโยบายต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนลดความกังวลลงได้
นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วงสั้นๆ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องหลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง และค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้นตามสกุลเงินทั่วโลก จากการกลับมาแข็งค่าของดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม หากดูสถิติในอดีตช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง พบค่าเงินบาทผันผวนสั้นโดยกินระยะเวลา 2 เดือน ดังนั้นมองว่าการผันผวนของค่าเงินบาทจะอยู่ถึงสิ้นเดือนพ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม การกลับมาอ่อนค่าของเงินบาท ถือว่าได้อิทธิพลมาจากนโยบายทรัมป์ บวกกับการอ่อนค่าของเงินหยวน ที่นักลงทุนมองว่า จีนจะได้รับผลจากสงครามการค้าสหรัฐค่อนข้างมากในระยะข้างหน้า ดังนั้นในระยะสั้นมองว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ 34-35.25บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากสิ้นเดือนพ.ย.เป็นต้นไป คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาท ถือว่า อ่อนค่าต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. จากการมาของทรัมป์ บวกกับธนาคารกลางสหรัฐออกมากล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงแรง เหมือนก่อนหน้านี้ ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้าอาจไม่มากนัก ทำให้เริ่มมีแรงซื้อกลับในดอลลาร์
ล่าสุดวันที่ 14 พ.ย.67 ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในระดับอ่อนค่ารอบ 3 เดือน ที่ระดับ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลว่า ภายใต้การนำของทรัมป์ จะทำให้เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย อาจไม่ได้ลดลงมากนัก
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของค่าเงินบาท ยังสอดคล้องกับเงินหยวนที่อ่อนค่าต่อเนื่อง จากความกังวลการกีดกันทางการค้าสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่ามากขึ้น
สำหรับ การคาดการณ์เงินบาท ในระยะสั้นๆ กสิกรไทยยังมองค่าเงินบาทอ่อนค่าระยะสั้น โดยอยู่ในกรอบ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ได้ และหากสามารถทะลุแนวดังกล่าวได้ คาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อไปที่ระดับ 35.50 บาท ส่วนแนวรับ คาดเงินบาทอยู่ที่ 34.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี
พิชัยมองค่าเงิน-ดบ.กระทบลงทุน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีหลายเรื่องที่เข้ามากระทบปัญหาเศรษฐกิจมาจากหลายส่วน เช่น เรื่องหนี้ที่สูงทั้งครัวเรือน และเอสเอ็มอี ทำให้คนไม่มีเงินมาลงทุน เรื่องนโยบายยังไม่มีความชัดเจน ปัญหาเชิงโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงไปหรือไม่ การส่งออกยาก ส่งออกสินค้าไปเพิ่มแต่ว่าพอส่งออกสินค้าไปกลับขาดทุน
ก็ทำให้อยากได้ค่าของอัตราแลกเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งก็มีผลเช่นกัน
“วันนี้เราคุยกับเข้าใจแล้วในทุกเรื่องกับ ธปท. ก็มีความพร้อมที่จะผลักดัน และในเรื่องการลงทุนก็เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น” นายพิชัย กล่าว
บาทอ่อนเอื้อส่งออกเตือนอย่าประมาท
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองเรื่องการอ่อนค่าของเงินบาท ใน 2 เรื่อง เรื่องแรก หากค่าเงินบาทอ่อนถึง 35 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นประโยชน์กับการส่งออก เพราะผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปแล้วจะมีเงินเข้ามาจะได้อานิสงส์ อีกอย่างผู้ประกอบการอาจมีความกล้านำเสนอสินค้าในช่วงต้นปีหน้า เพราะส่วนใหญ่การเจรจาจบสิ้นแล้วสำหรับการส่งมอบเดือน ธ.ค. 2567
เรื่องที่สองเห็นได้ว่าเงินบาทผันผวนอย่างเร็ว และแรงในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ตอนนี้จะมีอานิสงส์กับการส่งออกเพราะค่าเงินบาทอ่อนตัวไปถึง 35 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อป้องกันความไม่ประมาท ขอแนะนำให้ทางผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกับทางธนาคาร ทั้งนี้ สรท.มองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมต่อการส่งออกไทยควรเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์
หวังส่งออกสิ้นปีนี้อยู่ระดับ 2-2.5%
นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกปีนี้ได้เกินกว่า 2% แน่นอน แต่จะถึง 2.5% ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เหตุผลเพราะผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้เจรจาตกลงเรื่องราคา และการส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนถึงเดือนธ.ค. 2567 ดังนั้น ช่วงนี้จะอยู่ในช่วงของการผลิต และเตรียมส่งสินค้าก่อนปีใหม่ ดังนั้น หากค่าเงินผันผวนจะมีผลต่อกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแต่จากล่าสุดที่ค่าเงินบาทออกไปที่ 33-35 บาทต่อดอลลาร์ อันนี้จะเป็นอานิสงส์สำหรับผู้ส่งออก
“ส.อ.ท.” ชี้บาทผันผวนกระทบการแข่งขันไทย
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการค้าโลก จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,365 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มของส.อ.ท. ในเดือนต.ค. 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 50.4%
“เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบจากกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้น 13.3% YoY อยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านบาท”
สถานการณ์น้ำท่วมช่วงเดือนก.ย.และต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น สินค้าวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อีกทั้งสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด กระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี
ต่างชาติชี้ ‘เงินบาทไทย’เสี่ยงสุดยุคทรัมป์ 2.0
ขณะที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า “ค่าเงินบาท” ไทยมีแนวโน้มกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่เปราะบางที่สุดในกลุ่มค่าเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ในยุคของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งส่งออกมากเกินไป ค่าเงินบาทอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินหยวนจีน อีกทั้งเป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่มีมูลค่าสูงเกินจริงมากที่สุดเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้า
รายงานยังเทียบข้อมูลในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ปี 2561 ภายหลังทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรในช่วงต้นปีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะผันผวนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสกุลเงินต่างๆ ในเอเชีย พบว่า “เงินเปโซฟิลิปปินส์” และ “รูปีอินเดีย” มีความยืดหยุ่นที่ดีต่อนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะนโยบายขึ้นภาษีศุลกากร นอกจากนี้ เมื่อดัชนีดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนต.ค.จากการที่นักลงทุนประเมินความเสี่ยงเลือกตั้งสหรัฐ ค่าเงินทั้งสองสกุลนี้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ
คริสโตเฟอร์ หว่อง นักวิเคราะห์สกุลเงินจากธนาคาร OCBC ในสิงคโปร์ให้ความเห็นว่า ยังมีความไม่แน่นอนทั้งในแง่ระยะเวลา และระดับการบังคับใช้ภาษีศุลกากร ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
บลูมเบิร์ก ยังรวม 4 ปัจจัยกระทบต่อความเคลื่อนไหวของสกุลเงินในเอเชียก่อนที่ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่ง ดังนี้ 1. ‘เงินบาท’ มูลค่าสูงเกินจริง อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (REER) ของค่าเงินบาทไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ถึง 1.5% ตามข้อมูลธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ถือเป็นมูลค่าสกุลเงินบาทที่วัดเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในตะกร้า
การที่ REER สูงขึ้นหมายความว่าสินค้า และบริการที่ผลิตในราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดโลก ส่งผลให้ความสามารถการแข่งขันทางการค้าไทยลดลง ส่งผลกระทบต่อส่งออก และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว
ตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณการค้าระหว่างประเทศสูงสุดในภูมิภาค คิดเป็น 129% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จีน และสหรัฐเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดสองอันดับแรก รวมกันรองรับส่งออกของไทยถึง 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด ด้วยการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูงนี้ หากทรัมป์ออกมาตรการจำกัดการนำเข้า นโยบายเปิดเสรีการค้าของไทยอาจเป็นจุดอ่อนกระทบต่อเศรษฐกิจได้
ฟิลิป หยิน นักกลยุทธ์ของซิตี้ กรุ๊ป กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทย และดอลลาร์ไต้หวันเป็นสกุลเงินที่มีความเสี่ยงสูงสุดในเอเชียต่อการขึ้นภาษีทุกประเภทของสหรัฐ
2.‘ดอลลาร์’ แข็งค่าฉุดเงินบาทอ่อนยวบ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ถึง 8 พ.ย.67) ค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ และรูปีของอินเดียแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ตามดัชนี Bloomberg Dollar Spot ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดให้ความสนใจกับชัยชนะทรัมป์มาก ความผันผวนของสกุลเงินทั้งสองน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค อย่างเช่น เงินหยวน วอน และบาท ที่อ่อนค่าลงตามดอลลาร์สหรัฐ
3.นโยบายทรัมป์ทำ ‘ค่าเงินเอเชีย’ ผันผวน การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ 30% ช่วงต้นปี 2561 โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นจุดเริ่มต้นความผันผวนของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบปี 2560 ที่ความผันผวนยังค่อนข้างต่ำ
ตัวอย่างของปี 2561 สะท้อนให้เห็นสกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มที่จะผันผวนไม่แน่ไม่นอนไปอีกหลายเดือนข้างหน้า เมื่อมีการประกาศรายละเอียดนโยบาย ซึ่งมีผลมากกว่าเมื่อเทียบกับคำขู่ในช่วงการรณรงค์หาเสียง
4. บาทผันผวนตาม ‘หยวน’ ของจีน ในปี 2561 ช่วงที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนทวีความรุนแรงขึ้นจากนโยบายการขึ้นภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์ จากการวิเคราะห์พบว่า ค่าเงินบาทของไทยและริงกิตมาเลเซียผันผวนไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินหยวนของจีนอย่างชัดเจนในช่วงเวลาดังกล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์