จับตานโยบายต่างประเทศไทย รัฐบาลใหม่ (ไม่) เหมือนเดิม
รัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ผสมกับพรรคการเมืองหลักจากรัฐบาลชุดเดิมถูกจับตาในหลายมิติรวมถึงนโยบายต่างประเทศ ว่าประเทศไทยภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเดินบนเส้นทางต่างจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร
สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (อียู) จัดเสวนาหัวข้อ Thai Foreign Policy Outlook under the Incoming Government: plus ça change, plus c'est la même chose? ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศร่วมแสดงทัศนะหลากหลายมุมมอง
ทศวรรษที่สูญหาย
เปิดเวทีเสวนาที่ รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูต จากประสบการณ์ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศมากว่า 30 ปี รัศม์มองว่า สิบที่ผ่านมาเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” ของการต่างประเทศไทย กล่าวคือ ไทยสูญเสียแนวทางและจุดยืนในสายตานานาชาติเพราะรัฐบาลขาดความชอบธรรม นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 นโยบายต่างประเทศไทยเบี่ยงเบนไปจากหลักการเดิม เห็นได้จากการลงมติในสหประชาชาติเรื่องเมียนมา ยูเครน ที่ไม่สอดคล้องกับปทัสถานระหว่างประเทศ
“การที่รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมเพราะมาจากรัฐประหาร ไม่สบายใจที่จะคุยกับชาติตะวันตก ต้องหันไปหาเพื่อนที่ไม่ถามเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน เมื่อขาดความชอบธรรมย่อมยากท่ี่จะอธิบายกับโลกได้ว่า ทำไมต้องเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างอิสระเหมือนที่เคยทำ” อดีตเอกอัครราชทูตที่ผันตัวมาเป็นทูตนอกแถวกล่าวและว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยในปี 1932 ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ วางรากฐานนโยบายในการข้องเกี่ยวกับประชาคมโลกและการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค การก่อตั้งอาเซียนโดยปฏิญญากรุงเทพฯ ถือเป็นรากฐานสำคัญของการต่างประเทศไทย
นอกจากนี้การที่ชนชั้นนำไทยไม่ไว้ใจประชาธิปไตยอย่างมาก รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จึงต้องหันเหจากหมุดหมายเดิมมาใช้นโยบายมุ่งในประเทศมากขึ้น ความไม่ไว้ใจนี้กรัดกร่อนความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจโลก
ความสัมพันธ์ไทย-จีนแกร่ง
สิทธิพล เครือรัตติกาล จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เก้าปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ไทย-จีน ภายใต้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แข็งแกร่งมากขึ้น หลักฐานมีให้เห็นในสามมิติ
1. การเยือนในระดับสูงบ่อยครั้ง ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์เคยไปเยือนจีน หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงมาเยือนไทยในเดือน พ.ย.
เดือน ก.ย.ปีเดียวกันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนจีนรับการทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
2. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง นับตั้งแต่ปี 2556 จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทย ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าไทย-จีนคิดเป็นเกือบ 20% ของการค้าต่างประเทศไทยทั้งหมด ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน ก่อนโควิดจีนเที่ยวไทย 11 ล้านคนคิดเป็น 25% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทย
3. ไทยสนับสนุนจีนในประเด็นฮ่องกง ซินเจียงและการเป็นผู้นำของสี ปี 2558 ไทยส่งชาวอุยกูร์กว่า 100 คนกลับไปให้จีน ปี 2559 กีดกันโจชัว หว่องไม่ให้เข้าประเทศไทย ปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์แนะนำคนไทยให้อ่านหนังสือแนวคิดของสี จิ้นผิง
อย่างไรก็ตาม ในสัมพันธ์ทวิภาคีที่แนบแน่นก็มีปัญหาสี่เรื่อง
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงล่าช้า เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 ถึงตอนนี้ไปได้ไม่ถึง 20%
2. ชาวจีนใหม่ย้ายถิ่นเข้าประเทศไทย เช่น ย่านห้วยขวาง บุคลิกแตกต่างจากจีนโพ้นทะเลรุ่นเก่า คนรุ่นนั้นมาแบบยากจน ไม่มีสถานทูตจีนคอยดูแล จำต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมไทย แต่ชาวจีนใหม่ย้ายถิ่นจบปริญญาตรี มีเงินเข้ามาลงทุนเปิดร้านค้าในไทย ได้รับการดูแลจากสถานทูตจีน อยากได้บริการอะไรก็ใช้แอป ไม่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย
3. ไม่มีการเยือนอย่างเป็นทางการจากประมุขของรัฐ นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2518 ผู้นำจีนมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการหลายคน คนสุดท้ายคือประธานาธิบดีหู จินเทา เมื่อปี 2546 หลังจากนั้นไม่มีการเยือนอย่างเป็นทางการ (state visit) ระหว่างกันอีกเลย การมาเมืองไทยของสี จิ้นผิงเมื่อปีก่อน เป็นการมาร่วมประชุมเอเปค ไม่ใช่ state visit
“จีนคอยมาเป็นสิบๆ ปีอยากให้กษัตริย์ไทยเสด็จเยือน เพราะตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันมากษัตริย์ไทยไม่เคยเสด็จเลย นี่คือสิ่งที่จีนคาดหวังจากไทย ตอนนี้ประมุขทุกประเทศเอเชียเยือนจีนหมดแล้ว ยกเว้นไทยกับภูฏานที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน” สิทธิพลให้ข้อมูล
ท่าทีสหรัฐไม่ชัดเจน
จิตติภัทร พูนขำ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า นโยบายต่างประเทศไทยช่วงเก้าปีที่ผ่านมาเอียงเข้าหาจีนมากขึ้นด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความจำเป็นทางการเมืองจากการรัฐประหาร ชนชั้นนำใกล้ชิดจีน แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐไม่ชัดเจนต่อภูมิภาคนี้ เช่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ อีกทั้งสหรัฐยังหันไปเล่นเกมของตนเองด้วยการสร้างกลุ่มย่อยๆ เช่น กลุ่ม Quad (สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย) หรือสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
อย่ามองข้ามวิกฤติเมียนมา
ภาณุภัทร จิตเที่ยง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เปิดประเด็นวิกฤติเมียนมา อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่นโยบายต่างประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะนับตั้งแต่เมียนมารัฐประหาร วิกฤติที่เกิดขึ้นได้สร้างความท้าทายให้กับไทยมาตลอดไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ ปัญหาเหล่านี้สร้างความกังวลกับภาคธุรกิจไทยในเมืองชายแดน เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องกับเมียนมามีหลายหน่วยงาน เมื่อนโยบายไม่สอดประสานกันย่อมเกิดความโกลาหล
ความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลใหม่
ในทัศนะอดีตนักการทูตมากประสบการณ์อย่างรัศม์ แม้ไม่มีใครพอใจรัฐบาลใหม่ไปเสียงทั้งหมดแต่ยังมีความหวังอยู่เบื้องหน้า กระทรวงการต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่สำคัญมากแต่ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นรัฐมนตรี การที่พรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจนว่าต้องการกระทรวงนี้เพื่อสร้างหลักประกันว่า นโยบายต่างประเทศไทยจะเน้นที่เศรษฐกิจเป็นหลัก ความจำเป็นเร่งด่วนในสายตาอดีตนักการทูตรายนี้คือ ไทยกลับไปเป็นสมาชิกผู้แข็งขันของอาเซียน ยึดมั่นปทัสถานระหว่างประเทศ เช่น กรณียูเครน ฟื้นฟูความสามารถในการสร้างสัมพันธ์อย่างสมดุลกับมหาอำนาจ
“แน่นอน จีนสำคัญกับไทยในทุกด้าน ผมไม่คิดว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่ควรติดต่อกับเพื่อนตะวันตกมากขึ้นด้วย” รัศม์กล่าว
เช่นเดียวกับทัศนะของสิทธิพล การที่ภูมิหลังนายกฯ เศรษฐามาจากธุรกิจ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลใหม่จะมองจีนเป็นโอกาสทองทางเศรษฐกิจมากกว่าเป็นภัยคุกคาม ซึ่งไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้า ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 รัฐบาลไทยทุกชุดล้วนมองจีนแบบนี้
“แต่เทรนด์นี้อาจมีปัญหาถ้ารัฐบาลใหม่จะฟื้นฟูความเป็นผู้นำอาเซียน ถ้าโปรจีนมากไปไทยจะทำยังไงถ้าประเด็นจีนถูกยกขึ้นมาหารือในเวทีอาเซียน เราจะสูญเสียความน่าเชื่อถือ” สิทธิพลตั้งคำถาม
ขณะที่จิตติภัทร ไม่คิดว่ารัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศแบบถอนรากถอนโคน แต่จะเน้นเศรษฐกิจ ธุรกิจมากขึ้น เพราะนโยบายเศรษฐกิจเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย แต่มีความท้าทายเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมการดำเนินนโยบายอาจจะไม่ราบรื่นเหมือนในอดีต ส่วนภาณุภัทรเชื่อว่านโยบายต่างประเทศรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะเน้นเศรษฐกิจ การค้า การต่างประเทศ และถ้าดูสุนทรพจน์ของเศรษฐาจะเห็นถ้อยคำเรียกศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของชาติกลับคืนมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรายนี้เชื่อว่า นโยบายไทยไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากและยังต้องข้องเกี่ยวกับจีนต่อไป