'พริษฐ์' เปิดร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า เลิกอำนาจ ครม.-ลดดุลพินิจประธานสภา
'พริษฐ์ ก้าวไกล' เปิดร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า เลียนแบบสภาอังกฤษ ให้ผู้นำฝ่ายค้านถามนายกฯโดยตรงได้ ยกเลิกอำนาจ ครม. ลดดุลพินิจประธานสภาฯ ห้ามอภิปรายเรื่องชาติพันธ์ุ ศาสนา เพศ
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และผู้จัดการรณรงค์การสื่อสารและนโยบายของพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า ยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า สภาผู้แทนราษฎร เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นองค์กรระดับประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยกลไกหลายส่วนของสภาผู้แทนราษฎรถูกออกแบบและกำหนดโดย “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร”
แม้ข้อบังคับฉบับปัจจุบันถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2562 แต่มีหลายส่วนที่สามารถปรับปรุงให้ก้าวหน้าขึ้นได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความยึดโยงกับประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร
สัปดาห์ที่แล้ว ตนและพรรคก้าวไกลจึงได้ยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ขอเรียกว่าข้อบังคับสภาก้าวหน้าเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.Digital Parliament (เพิ่มการใช้ช่องทางสื่อสารดิจิทัล)
- กำหนดให้การส่งและเผยแพร่เอกสารภายในทั้งหมดทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
- จัดให้มีระบบ tracking ความคืบหน้าของการพิจารณากฎหมาย และการดำเนินการของหน่วยงานตามเรื่องการปรึกษาหารือในสภาที่ประชาชนเข้าถึงง่าย
2.Open Parliament (เพิ่มความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล)
- กำหนดให้มีการถ่ายทอดสด (LIVE) การประชุมทุกคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ (ยกเว้นที่ประชุมมีมติให้ประชุมลับเป็นรายกรณี)
- เปิดเผยรายงานการประชุม และข้อมูลการลงคะแนนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบตารางที่วิเคราะห์ต่อได้ (machine readable)
3.Deliberative Parliament (เพิ่มการซัก-ถามนายกรัฐมนตรี)
- เพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้มีการถาม-ตอบระหว่างนายกฯ กับผู้นำฝ่ายค้าน (และ สส.คนอื่น) โดยตรง 1 ครั้ง/สัปดาห์ (อ้างอิง “Prime Minister’s Questions” ของสภาสหราชอาณาจักร - ตัวอย่าง: https://www.youtube.com/watch?v=U5-huwwo0f4 )
4.Strong Parliament (เพิ่มกลไกตรวจสอบฝ่ายบริหาร)
- กำหนดให้ประธานของคณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ (ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ / ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ / กิจการสภาผู้แทนราษฎร) ต้องเป็น สส. ฝ่ายค้าน
5.Independent Parliament (เพิ่มกลไกคานอำนาจฝ่ายบริหาร)
- ยกเลิกอำนาจ ครม.ในการนำกฎหมายไป “ดอง” หรือศึกษาเพิ่มเติมได้ 60 วันก่อนจะมีการพิจารณาและลงมติในวาระ 1
- กำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนสำหรับ นายกฯ ในการใช้อำนาจพิจารณาว่าจะรับรองร่างการเงินให้เข้าสภาหรือไม่ (หากพิจารณาเกิน 30 วัน ให้นับว่ารับรองโดยอัตโนมัติ (หลัก auto-approve))
6.Rule-based Parliament (ลดการใช้ดุลพินิจของประธานสภา)
- กำหนดให้ประธานสภาต้องออกหลักเกณฑ์และระเบียบเกี่ยวกับการวินิจฉัยว่าเรื่องอะไรเป็นเรื่องด่วน (เพื่อให้มีมาตรฐานในการตีความ) โดยที่สภาต้องเห็นชอบ และต้องมีการทบทวนทุก 1 ปี
7. Global Parliament (เพิ่มความเชื่อมโยงกับสากล)
- กำหนดให้มีการแปลทุกพระราชบัญญัติที่สภาเห็นชอบเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นคลังข้อมูลในการสื่อสารกับประชาคมโลก
8. Anti-Discriminatory Parliament (ขจัดการเลือกปฏิบัติ)
- ห้ามการอภิปรายที่เป็นการก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุต่างๆ (เช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ สภาพทางกายหรือสุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อาชีพ)
9. People’s Parliament (เพิ่มกลไกประชาธิปไตยทางตรงและการมีส่วนร่วมของประชาชน)
- เปิดให้ประชาชน 5,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอญัตติให้สภาพิจารณา (จากปัจจุบันที่เปิดให้เฉพาะประชาชน 10,000 คน เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ)
- กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติที่ถูกเสนอโดยประชาชน ถูกนับเป็นเรื่องด่วนที่ถูกพิจารณาก่อน (fast track)
ใครสนใจร่างฉบับเต็ม สามารถอ่านได้ คลิกที่นี่