กรณีที่ไทยไม่ต่างกับสหรัฐอเมริกา | ไสว บุญมา
ในช่วงนี้มีเหตุการณ์แทบไม่ต่างกันเกิดขึ้นทั้งในเมืองไทยและในสหรัฐ กล่าวคือ พฤติกรรมของอดีตผู้นำรัฐบาลเป็นต้นตอก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในสังคม
อดีตผู้นำรัฐบาลไทยซึ่งเป็นอภิมหาเศรษฐีถูกศาลตัดสินจำคุกหลายคดี แต่หลบหนีไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ 17 ปีก่อนที่จะยอมกลับมารับโทษ แต่คงไม่ใช่ความบังเอิญที่เขากลับมาในช่วงเช้าของวันที่รัฐสภาไทยลงมติรับรองนักการเมืองใหม่ที่ได้รับการเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
นักการเมืองใหม่คนนั้นมาจากพรรคการเมือง ซึ่งสืบสานอุดมการณ์ของพรรคการเมืองเก่าที่ตั้งขึ้นโดยอดีตนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
พรรคนั้นถูกยุบไปเพราะทำความผิดร้ายแรง ในตอนค่ำของวันนั้นเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้สันทัดกรณีบางคนคาดไว้ล่วงหน้า กล่าวคือ อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเคยเป็นนายตำรวจป่วยกระทันหัน ทั้งที่เมื่อตอนเดินทางมาถึงสนามบินดอนเมืองด้วยเครื่องบินส่วนตัวยังดูแข็งแรงดี แทนที่จะต้องไปนอนในคุก เขาจึงไปนอนในห้องรับรองคนไข้พิเศษของโรงพยาบาลตำรวจ
เขาอาจจะป่วยกระทันหันจริง แต่คนไทยส่วนใหญ่ดูจะไม่เชื่อ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงตอกย้ำความฝังใจในบางส่วนของสังคมไทยที่สะท้อนออกมาสั้นๆ ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”
อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่ามีคนไทยจำนวนมากสนับสนุนเขาอย่างแข็งขันต่อไปไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร เขาจะทำอะไร จะละเมิดกฎหมายและศีลธรรมหรือไม่
เรื่องนี้จึงดูจะสร้างความสับสนเกี่ยวกับหลักของการอยู่ร่วมกัน อะไรถูกอะไรผิดและอะไรดีอะไรชั่ว
ในขณะเดียวกันมันอาจเป็นฐานของการจุดชนวนความโกลาหลใหญ่ครั้งต่อไป เช่นเดียวกับเมื่อรัฐสภาพยายามตรากฎหมายกลางดึกเพื่อเอื้อให้หลายคนพ้นผิดโดยเฉพาะตัวอดีตนายกรัฐมนตรีเอง การผ่านร่างกฎหมายที่เรียกกันว่า “ฉบับสุดซอย” เมื่อตอนตี 4 นำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวางอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทหารยึดอำนาจเมื่อเดือน พ.ค.2557
ในสหรัฐ อดีตประธานาธิบดีตกอยู่ในกระบวนการถูกสอบสวน และดำเนินคดีมาตั้งแต่แพ้การเลือกตั้งเพื่อครองตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 2 เมื่อปี 2563 เขาถูกฟ้องในหลายกรณีจากการลวนลามสตรี ไปจนถึงกรณีทางการเมืองทั้งในระดับรัฐบาลกลางและในระดับรัฐ
ข้อกล่าวหาหลัก ได้แก่ เขาพยายามทำทุกอย่างรวมทั้งทำผิดกฎหมายให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งเพื่อครองตำแหน่งต่อไป
พฤติกรรมของเขานำไปสู่จลาจล เมื่อประชาชนจำนวนมากบุกเข้าไปในรัฐสภาในระหว่างที่สมาชิกประชุมกัน ยังผลให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย ล่าสุดเขาถูกฟ้องร่วมกับผู้สนับสนุน 19 คนในรัฐจอร์เจียเมื่อสัปดาห์ก่อน ฐานสมรู้ร่วมคิดกันล้มการเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งมีผลเท่ากับการล้มล้างการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตย
แม้ศาลจะตัดสินแล้วว่า เขาผิดในคดีลวนลามสตรีและเป็นมหาเศรษฐีที่มีปัญหาทางจรรยาบรรณมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักธุรกิจ แต่ชาวอเมริกันจำนวนมากยังสนับสนุนเขาอย่างแข็งขัน เขาจึงได้รับเงินสนับสนุนด้านการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปกว่า 7 ล้านดอลลาร์ เป็นไปได้ว่าถ้าศาลตัดสินว่าเขาทำผิดตามคำฟ้อง หรือแพ้การเลือกตั้งครั้งหน้า ความโกลาหลจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
จากมุมมองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความคล้ายกันของปรากฏการณ์ในประเทศทั้งสองเกิดขึ้นในบริบทที่ต่างกัน
ในกรณีของไทย ระบอบประชาธิปไตยอยู่ในกระบวนพัฒนา แต่ยังย่ำอยู่กับที่หลัง 91 ปีผ่านไปเพราะสังคมไทยยังไม่พร้อม การเมืองจึงตกอยู่ในวังวนของความฉ้อฉลจากทั้งฝ่ายนักการเมืองและฝ่ายทหารที่ยึดอำนาจหลายครั้งสลับกับการเลือกตั้งทั่วไป
ในกรณีของสหรัฐ ระบอบประชาธิปไตยถูกใช้มาตั้งแต่การก่อตั้งประเทศเมื่อปี 2319 แม้อดีตประธานาธิบดีที่อ้างถึงจะมีพฤติกรรมจำพวกบ่งบอกว่าน่าจะนิยมเผด็จการ แต่ยังฟันธงลงไปไม่ได้ว่าเขาจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
เขากล่าวหาว่าถูกโกงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ในขณะที่เขาถูกกล่าวหาว่าใช้กลโกงเพื่อจะครองอำนาจต่อไป ฉะนั้น ไม่ว่าความจริงจะออกมาอย่างไร หรือผลของคดีเป็นอย่างไร ปัญหามาจากการโกง
เหตุการณ์คล้ายกันอันเนื่องมาจากอดีตผู้นำรัฐบาลไทยและผู้นำรัฐบาลอเมริกันจึงมีฐานเหมือนกัน นั่นคือ ความฉ้อฉล.