"เศรษฐา" นัดถก "ผู้นำ4เหล่าทัพ" พร้อมหนุนงบซื้ออาวุธ ให้ทัดเทียมเพื่อนบ้าน
“เศรษฐา" นัดหารือ ผู้นำ4เหล่าทัพ เป็นการภายใน ฟังข้อเสนอแนะ ก่อนบรรจุในนโยบาย ด้าน "สุทิน" เดินสายพบ อดีตรมว.กลาโหม ขอคำแนะนำ รัฐบาลพร้อมหนุนงบซื้ออาวุธให้ทัดเทียมเพื่อนบ้าน
มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐนตรี พร้อม นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นัดหารือเป็นการภายใน ร่วมกับผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ ได้แก่
- พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ว่าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบก
- พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ว่าที่ผู้บัญชาการทหารเรือ
- พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ว่าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ
ตามรายงานการนัดหารือกันในวันนี้ จะเน้นการรับฟังความคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะกับทางกองทัพบกให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล และกองทัพ โดยเฉพาะสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ก่อนนำมาบรรจุไว้ในนโยบาย ร่วมกับนโยบายของ 11 พรรคการเมือง และตามหมุดหมายรัฐบาลจะแถลงนโยบายในวันที่ 11 กันยายนนี้
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า หลังหารือร่วมกับผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพแล้ว นายสุทิน มีกำหนดการเดินทางเข้าพบอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาทิ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอคำแนะนำในการทำงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้าพบพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา แล้ว
นอกจากนี้ นายสุทิน ยังเตรียมที่จะเข้าพบนักวิชาการด้านความมั่นคง อาทิ ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้ได้หารือกับนายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ประจำพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งตามรายงานหนึ่งในนั้นมีชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมด้วย
ทั้งนี้รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่าก่อนหน้านี้ได้เคยมีการพูดคุยกันในเรื่องการทำงานระหว่างรัฐบาลและกองทัพมาบ้าง โดยนายเศรษฐามีนโยบาย พร้อมจะทำงานกับกองทัพในฐานะรัฐบาลพลเรือน ที่พร้อมรับฟังคำแนะนำต่างๆ
อีกทั้งในเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนจะไม่ตัดงบประมาณดังกล่าวหากมีความจำเป็น เพราะเข้าใจดีว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะปกป้องประเทศโดยเฉพาะตามแนวชายแดนต่างๆที่จำเป็นต้องมีทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน และหากมีการเจรจาในเรื่องนี้จะขอให้ทางกองทัพนำเสนอสินค้าภายในประเทศไทยที่มี เพื่อแลกเปลี่ยนหรือไปจำหน่ายกับประเทศนั้นนั้นในลักษณะการแลกเปลี่ยนหรือ บราเธอร์(barter)ระหว่างกัน ซึ่งก็จะทำให้สินค้าที่เรามีอยู่สามารถมีช่องทางเพิ่มในทางการตลาดกับต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง