‘เรือดำน้ำ’โผล่ ทดสอบเพื่อไทย ปฏิรูปกองทัพ โละบอร์ดกลาโหม
หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ต้องจับตา ท่าทีรมว.กลาโหม คนใหม่ จะเดินหน้า หรือยกเลิกสัญญาเรือดำน้ำ รวมถึงโครงการต่างๆของเหล่าทัพ และการแก้ไขกฎหมายต่างๆ
จากนี้ไป “รัฐบาลเพื่อไทย” ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กับ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ต้องรับแรงเสียดทานจากสังคมไม่น้อย ในการขับเคลื่อนกองทัพให้สอดรับสถานการณ์และบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ทั้งการจัดสรรงบประมาณ จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
ประเด็นเหล่านี้ พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายค้านเคยใช้โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม พร้อมประกาศเป็นนโยบายของพรรค หากได้เป็นรัฐบาลจะเข้ามาบริหารจัดการกองทัพไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ทั้งปรับลดงบประมาณ ปฏิรูปกองทัพ ลดจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
ที่ร้อนสุด เรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ ภายหลัง พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ คนปัจจุบัน ได้ลงนามเห็นชอบเครื่องยนต์ CHD 620 ที่ผลิตจากบริษัทของจีนแทนเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมัน ติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T ของไทย
ส่วนขั้นตอนต่อไป กองทัพเรือ เตรียมเสนอ รมว.กลาโหม ลงนาม เพื่อขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ใหม่อีกครั้งในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสัญญาในส่วนเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้านำมาขับเคลื่อนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ รวมถึงได้รับข้อเสนอในการเพิ่มการรับประกันจาก 10 ปี เป็น 20 ปี การส่งกำลังบำรุง อะไหล่ และระบบอาวุธในเรือเพิ่มเติม
ปัญหาเรือดำน้ำลำแรก เป็นมหากาพย์ที่พรรคเพื่อไทยเคยใช้โจมตีกองทัพเรือในเรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ที่สร้างความเสียหายต่องบประมาณประเทศ อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงการทำสัญญาไม่ใช่การซื้อแบบจีทูจี พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญา เรียกค่าเสียหาย หลังฝ่ายจีนที่ไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์เยอรมันติดตั้งในเรือดำน้ำไทยได้
ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย ยังเคยตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพเครื่องยนต์ CHD 620 ที่ผลิตในจีน หากกองทัพเรือเดินหน้าเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว ทดแทนเครื่องยนต์ MTU เยอรมัน ว่าเป็นการลดสเปก และเปรียบไทยเป็นหนูทดลอง เนื่องจากยังไม่เคยใช้ติดตั้งในเรือดำน้ำของชาติใดมาก่อน
ไม่เกิน 2 เดือนต่อจากนี้ ต้องจับตา “สุทิน คลังแสง” ในฐานะ รมว.กลาโหม จะเป็นผู้พิจารณาลงนามอนุมัติปรับเปลี่ยนสัญญาใช้เครื่องยนต์จีนติดตั้งในเรือดำน้ำไทย ตามที่กองทัพเรือเสนอ และส่งต่อให้ ครม. ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ นั่งหัวโต๊ะพิจารณาอนุมัติหรือไม่
"หลังรัฐบาลแถลงนโยบายจะให้ความชัดเจนผมมีทางออกอยู่ในใจ และเป็นทางอออกที่ดี
คือ 1)กองทัพต้องพอใจ 2)ประชาชนและสังคมรับได้ มีเหตุผลอธิบายได้ และต้องพูดคุยกับกองทัพเพราะเป็นหน่วยงานที่จะต้องใช้งาน แม้จะมีการพูดคุยกันไปแล้วบ้าง แต่ยังไม่ละเอียด ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน
ส่วนยังเป็นเรือดำน้ำจีนหรือไม่นั้น ยังไม่ตัดสินใจว่าเป็นทางใดทางหนึ่ง อาจจะไม่ใช่จีน คนไทยอยากได้อะไร ส่วนแนวโน้มยกเลิกสัญญานั้นผมขอดูรายละเอียดเพิ่มเติม และหารือหลายฝ่าย เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ยังไม่บอกว่าจะยกเลิกหรือจะเดินหน้า ส่วนที่ผ่านมาเราผ่อนจ่ายไป 7,000 ล้านบาทแล้ว และคณะเจราจาของกองทัพเรือ หยั่งเชิงแล้ว ดูเหมือนทางจีนจะไม่คืนเงิน ผมคิดว่าถ้ายกเลิกโครงการ การเจรจาถ้าระดับหนึ่ง ก็อาจจะมีปัญหา แต่ถ้าคนอีกระดับหนึ่งไปเจรจา ก็อาจจะจบ” นายสุทิน ระบุ
แหล่งข่าวจากกองทัพเรือ ยอมรับว่า ขณะนี้ทุกขั้นตอนผ่านการดำเนินงานของกองทัพเรือไปหมดแล้ว จากนี้ขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย หากจะยกเลิกก็ไม่มีปัญหา พร้อมปฏิบัติตาม ส่วนที่กังวลว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเจรจา แต่ยืนยันว่าการพบปะระหว่าง นายกฯ รมว.กลาโหม และ ว่าที่ ผบ.เหล่าทัพ ไม่ได้พูดถึงเรือดำน้ำ ส่วนใหญ่พูดคุยการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดกำลังพลมากกว่า
ไม่ต่างกับโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 เมื่อปีที่แล้ว เพราะกว่าจะฝ่าด่านพรรคเพื่อไทยมาได้ เลือดตาแทบกระเด็น แต่เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ขายให้ ทำให้ปีนี้ กองทัพอากาศเตรียมแผนเสนอโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ทดแทน ซึ่งจะบรรจุในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ เพื่อให้ทันต่อปลดประจำการเครื่องบินรบเดิมที่กำลังหมดอายุการใช้งาน
พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่ถูกออกแบบมากันฝ่ายการเมืองล้วงลูก โดยกำหนดให้การปรับย้ายทหารต้องผ่าน คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกลาโหม หรือบอร์ดกลาโหม ประกอบด้วย รมว.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร.และ ผบ.ทอ. จึงทำให้เก้าอี้ รมว.กลาโหม เปรียบเสมือนตรายาง ไร้อำนาจในการปรับย้ายเพราะมีเพียง 1 เสียง
พรรคเพื่อไทย หมายมั่นปั้นมือจะแก้ไข-ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ยึดอำนาจการปรับย้ายทหารมาอยู่กับฝ่ายพลเรือน คือ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตั้งแต่ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกรัฐประหารไปเสียก่อน
มารอบนี้ก็เป็นหนึ่งในหัวข้ออยู่ในการปฏิรูปกองทัพ ที่ได้หาเสียงเอาไว้
นอกเหนือจากนี้ ยังนโยบายอื่นเกี่ยวกับปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศไว้ในเว็บไซต์พรรคฯ เช่น การป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายต่างๆ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ
หากเช็กท่าที นายกฯเศรษฐา ที่มีต่อกองทัพ นับว่ายืดหยุ่นสมควร จะเห็นจากการเปลี่ยนคำว่า“ปฏิรูปกองทัพ” มาเป็น “พัฒนาไปร่วมกันกับกองทัพตามความเหมาะสม” และย้ำว่าในทุกๆ เรื่องต้องผ่านการพูดคุย และเจรจากับผู้นำเหล่าทัพทั้งหมด
จึงเป็นที่มาพบปะระหว่าง นายกฯเศรษฐา รองนายกฯ ปานปรีย์ พหิทธานุกร สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กับว่าที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ เมื่อ 2 ก.ย.นี้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านความมั่นคง ประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานระหว่างรัฐบาล และกองทัพให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ก่อนจะนำมาบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา วันที่ 11 ก.ย.2566 นี้
จึงพอทำนายได้ว่า รัฐบาลเพื่อไทย เลือกใช้วิธีประนีประนอม มากกว่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า ในการเข้าไปบริหารพัฒนากองทัพ ผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ส่วนทหารก็ถนัดในเรื่องการหว่านล้อมฝ่ายการเมือง ให้คล้อยตามแนวทางของกองทัพ
ดังนั้น คงต้องรอดูโฉมใหม่ของ “กองทัพ”ภายใต้ขับเคลื่อนของ“รัฐบาลเพื่อไทย” ว่าจะเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใดในห้วง 4 ปี นับจากนี้