อนุรักษนิยม ค้ำรัฐบาลใหม่ 'ทักษิณ' ความหวังอำนาจเก่า
จุดแข็งจึงอยู่ที่ เสถียรภาพมั่นคงในระดับอุ่นใจได้ แต่ก็ต้องแลกกับการถูกต่อรอง หรือมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจบางเรื่อง จนรัฐบาลไม่เป็นตัวของตัวเองหรือไม่
ถึงกำหนดดีเดย์ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่จะได้สตาร์ตเครื่องยนต์ลูกใหม่ ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ภายหลังนำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ในวันที่5 ก.ย.นี้ ถึงแม้หน้าตา ครม.บางคนอาจทำให้สังคมผิดหวัง หรือร้องยี้อยู่บ้าง แต่ก็ต้องวัดกันที่ผลของงานเป็นสำคัญ
ท่ามกลางความคาดหวังจากสังคม ที่ตั้งตารอชุดนโยบายเพื่อไทย และแต่ละพรรคการเมืองที่ได้หาเสียง จะเป็นจริงแค่ไหน แม้ผลสำรวจของนิด้าโพล ที่มีการเปิดเผยออกมาว่า 3 นโยบายของเพื่อไทย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะทำได้ นั่นก็คือ
1.แก้กฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
2.ขึ้นค่าแรง 600บาท ภายในปี 70 และ
3.เงินเดือน ป.ตรี 25,000 บาท
แต่ความพิเศษอย่างหนึ่งของรัฐบาลเศรษฐา ที่ค่อยๆ เผยให้เห็นคือ โครงสร้างอำนาจที่เกื้อหนุนค้ำจุนให้สามารถฟอร์มรัฐบาลสำเร็จ หนีไม่พ้นเครือข่ายอนุรักษนิยมที่ยังทรงประสิทธิภาพสะท้อนผ่านบทบาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพทั้งหลาย ที่ยึดโยงภาคส่วนต่างๆทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง ที่ต่างมีอำนาจตัวจริงในแต่ละบริบท
ประตูบานแรกของเศรษฐา ที่สามารถฝ่าด่านขึ้นเป็นนายกฯ ได้ มาจากสว.สาย ป.ประยุทธ์ ที่อาจแลกมาด้วยเงื่อนไขผ่านดีลพิเศษบางอย่าง จนวันนี้เพื่อไทยถูกมองว่า กลมกลืนเป็นพวกอนุรักษนิยมเต็มตัวไปเรียบร้อยแล้ว
คนที่ถูกจับตาว่าเป็นความหวังของฝ่ายอนุรักษนิยมคนใหม่ คือ คนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร คู่ต่อกรกับฝ่ายอนุรักษนิยมมายาวนาน
หลายปีที่ผ่านมา อดีตนายกฯ คนนี้ที่เพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจำคุก 8 ปีเหลือ 1 ปี ต้องเจอรัฐประหารโดยตรงเมื่อปี 49 และเครือข่ายเพื่อไทยโดนอีกครั้งเมื่อปี 57 ถูกคดีไล่ล่าจนต้องไปอยู่ต่างประเทศ ฝ่ายอำนาจเก่าก็ยังไม่สามารถกำจัดให้พ้นสังเวียนการเมืองแบบถอนรากถอนโคน เพราะเครือข่ายทักษิณยังมีจุดแข็ง
ในเมื่อกำจัดทิ้งไม่สำเร็จ การหันมาเป็นพวก น่าจะดีสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยม และเครือข่ายทักษิณ ที่ต่างก็สมประโยชน์ จึงได้ข้อยุติแบบที่เห็นวันนี้
เพื่อไทยได้ขึ้นสู่อำนาจ ฝ่ายอนุรักษนิยมได้กันชนใหม่มาต่อกรกับก้าวไกล ซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่มีอิทธิพลมากที่สุด ที่จะสั่นคลอนอำนาจเก่าได้อย่างน่าหวั่นเกรง
การส่ง “สุทิน คลังแสง” ไปนั่ง รมว.กลาโหม พร้อมกับภาพการเป็นมือประสาน เดินสายพบอดีตรมว.กลาโหม และว่าที่ผู้นำเหล่าทัพอย่างต่อเนื่อง ก็สะท้อนภาพได้ค่อนข้างดีว่า มีความพยายามจะใช้คนที่บุคลิกประนีประนอม เพื่อปรับจูนการทำงานให้ประสานสอดคล้องระหว่างการเมืองและการทหาร
เพื่อไทยเองก็คงรู้ถึงเงื่อนไขหลายอย่างที่แปรเปลี่ยนไป หลายอย่างต้องซอฟต์ลง ตามดุลอำนาจที่ไม่เหมือนเก่า ในเมื่อวันนี้ขุมข่ายอำนาจมาจากหลายทิศทาง ร่วมกำหนดเกม และเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้รัฐบาลนี้ก่อตัวสำเร็จ
จุดแข็งจึงอยู่ที่ เสถียรภาพมั่นคงในระดับอุ่นใจได้ แต่ก็ต้องแลกกับการถูกต่อรอง หรือมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจบางเรื่อง จนรัฐบาลไม่เป็นตัวของตัวเองหรือไม่ ตรงนี้น่าจับตา และน่าจะได้เห็นอะไรชัดเจนมากขึ้น เมื่อช่วงฮันนีมูนผ่านพ้นไปแล้ว