ยุทธศาสตร์ชาติ ‘มรดก คสช.’ บีบ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ฝ่าด่าน ?
11กันยายน คือวันที่ "รัฐบาลเศรษฐา" จะแถลงนโยบายรัฐบาล ต่อรัฐสภา ตาม รธน. กำหนดกรอบให้สอดรับ "ยุทธสาตร์ชาติ" มรดกของ "คสช."
หลังจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อบ่ายวันที่ 5 ก.ย.2566 แล้ว ตามขั้นตอนต่อไปคือ การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 กำหนดว่า ครม.ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ หรือ 15 วัน หลังจากวันถวายสัตย์ฯ
มาตรา 162 ยังมีบทบัญญัติที่วางเป็นกรอบการแถลงนโยบายไว้ด้วยว่า “ต้องสอดคล้องกับ 1.หน้าที่ของรัฐ 2.แนวนโยบายแห่งรัฐ 3.ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ ที่จะนำมาใช้จ่ายในนโยบายที่แถลง"
ดังนั้น การจัดทำนโยบายยังคงถูกเซ็ตให้เป็นไปตามกรอบที่ “คสช.” กำหนดไว้ โดยเฉพาะ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" (2561-2580) ที่กำหนดให้การทำงานมุ่งพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเน้นหนักไปที่ด้านความมั่นคงของรัฐ ความสามารถในการแข่งขัน พัฒนา และศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ความเสมอภาคทางสังคม รวมถึงนโยบายต้องเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่วางกรอบไว้แบบกว้าง 13 ด้าน และหน้าที่ของรัฐอีก 12 ด้าน
สำหรับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ในห้วงที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้าน วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็น “ปมปัญหาสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยและการแข่งขันของโลก”
เมื่อถึงคราวที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ย่อมหนีไม่พ้นที่ “รัฐบาลเศรษฐา” ต้องรับ “มรดก” ของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือคสช. มาเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดินในห้วง 4 ปีต่อจากนี้
หากไม่ยึดยุทธศาสตร์ชาติ แนวนโยบายแห่งรัฐ ไว้เป็นฐานการทำงาน อาจถูกเพ่งเล็งจาก “ฝ่ายค้าน” ที่มี “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำ ผสมกับ “พรรคไทยสร้างไทย” ที่ตั้งป้อมรื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช.
"ฝ่ายค้านยังบลัด" อาจถอดคำอภิปรายของเพื่อไทยมาย้อนเกล็ด และยกเป็นปมกล่าวหาว่า “รัฐบาลใหม่” ส่อทำผิดรัฐธรรมนูญตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มบริหารราชการแผ่นดิน
สำหรับการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในต้นสัปดาห์หน้า จึงถูกจับตาจากฟากฝั่งของการเมือง รวมไปถึง “วุฒิสภา” ที่ถูกตั้งฉายาให้เป็น “ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก คสช.” ว่า จะมีเนื้อหาและสาระที่ตรงสเปค ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 กำหนด หรือไม่
ล่าสุด “เสรี สุวรรณภานนท์” ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา นำร่องถกเพื่อวางกรอบการอภิปรายนโยบาย และเริ่มต้นเช็คลิสต์จากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบาย "แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท”
เช่นเดียวกับ “วันชัย สอนศิริ” ที่เผยว่า สว. จับตานโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงการ “ปลดหนี้-พักหนี้”
นอกจากนั้น ในประเด็นการเมืองที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ คือ แก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง เพื่อยก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยวุฒิสภาจับตาแบบไม่กระพริบ พร้อมตั้งประเด็นที่อยากให้ รัฐบาลใหม่ตอบให้ชัดคือ หมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสูงสุด องค์กรอิสระ คิดอ่านอย่างไร
รวมไปถึง “นโยบายด้านความปรองดอง” ที่ล่าสุดมีนักวิชาการ ทั้ง “พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” จากนิด้า รวมถึง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” จากคณะก้าวหน้า เห็นพ้องต่อการออกนโยบาย “นิรโทษกรรม" นักโทษ และผู้ต้องหาคดีการเมือง เพื่อหวังปลดล็อคความขัดแย้งที่ฝังราก มาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน
โดยทั้ง 2 ข้อเสนอนั้น มีสิ่งที่ต่างกัน คือ "อ.พิชาย" เสนอให้ทำเป็น “พระราชกำหนด” ที่รัฐบาลใช้อำนาจดำเนินการได้ ขณะที่ “ปิยบุตร” เสนอให้ทำเป็น “ร่างพระราชบัญญัติ” ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาฯ และวุฒิสภา
กับนโยบายด้านนี้ สว.เสรีให้ความเห็นในเชิงที่สนับสนุน โดยโฟกัสไปที่รายละเอียดว่า “หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน สามารถทำได้ แต่เงื่อนไขสำคัญที่ควรมี คือคนที่ทำผิดต้องยอมรับสิ่งที่ตนเองได้ทำผิด และรับปากว่าจะไม่หวนไปทำผิดในคดีเดิมซ้ำอีก”
ขณะเดียวกันยังมี สว.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 สนับสนุน ดังนั้น ทิศทางของวุฒิสภาในระยะเวลาที่เหลืออยู่ อาจได้เห็นปรากฏการณ์ “เห็นชอบ” มิติทางการเมืองของรัฐบาลในสถานการณ์พิเศษ จากเดิมที่ตั้งเงื่อนไขไม่ยอมรับมาโดยตลอด
การแถลงนโยบายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 บัญญัติด้วยว่า “ไม่มีการลงมติความไว้วางใจ” แต่ต้องจับตาสาระของการอภิปราย พร้อมกับแง่มุมที่ “สว.-สส.” คิดอ่าน โดยเฉพาะประเด็นการใช้อำนาจ ที่อาจเข้าข่ายแสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง
หลังจากที่ “นายกฯเศรษฐา” กำชับ รัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ในวงประชุมเมื่อ 4 ก.ย. ซึ่ง มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ถ่ายทอดให้นักข่าวที่รัฐสภาฟังว่า “การทำงานหากติดขัดเรื่องกฎหมายให้แก้กฎหมาย ติดระเบียบให้แก้ระเบียบ หากติดที่คน ให้เปลี่ยนคน”
จึงต้องจับตาว่า แนวทางของนายกฯเศรษฐา ที่หวังให้การทำงานในรัฐบาลราบรื่น จะฝ่าด่านยุทธศาสตร์ชาติของ คสช.ไปได้หรือไม่ อย่างไร และจะซ้ำรอย “ความฉ้อฉลเชิงนโยบาย” ที่เป็นต้นตอและความล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่.