ซื้อใจประชาชน งานเร่งด่วนรัฐบาล
ได้แต่หวังว่าหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วพรรคร่วมรัฐบาลจะได้มีการหารือร่วมกันและเขียนนโยบายระยะยาวที่นำไปปฏิบัติได้จริง และแก้ไขปัญหาตรงจุดวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน
สาระสำคัญของนโยบายรัฐบาลที่ “นายกรัฐมนตรี-เศรษฐา ทวีสิน” จะแถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 ก.ย. 2566 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 กำหนดไว้ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่หรือหลังจากวันถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยได้วางกรอบระยะสั้นต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว ระยะกลางและระยะยาวจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ลดรายจ่ายสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน
อันดับแรกจะต้องเริ่มจากการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในประเทศ ด้วยการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล “Digital Wallet 10,000 บาท” ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 560,000 ล้านบาท เป็นการ “ซื้อใจประชาชน” ว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ ส่วนการสร้างรายได้จะเน้นไปที่ภาคการท่องเที่ยว ขจัดอุปสรรคเรื่องวีซ่าเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาเที่ยวในประเทศฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาหมุนเวียน โดยเฉพาะการเจรจากับต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เพื่อลดเงื่อนไขในเรื่องวีซ่าให้เกิดการเดินทางเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น และมองหาโอกาสตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ขณะเดียวกันจะเร่งเจรจาการค้าโดยใช้กลไกกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการเปิดประตูการค้าสร้างตลาดใหม่ ทั้งเพื่อทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 5%
อีกนโยบาย “ประชานิยม” ที่โดนใจประชาชนและใช้ได้ผลเสมอมา ก็คือการแก้หนี้ให้ประชาชนโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นถึง 90% ของจีดีพี ซึ่งหนี้ก้อนใหญ่จะเป็นเกษตรกรที่มีอยู่ 40% ของประชากรมีรายได้เพียง 8% ของจีดีพี ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกษตรกรมีรายได้ให้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า การเปลี่ยนที่ดิน ส.ค.1 เป็นโฉนดได้การพักหนี้เกษตรกร รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าส.ป.ก. 4-01 ให้ประชาชนสามารถนำไปต่อยอด ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ นำมาพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว รวมทั้งการยกระดับระบบประกันสุขภาพ 30 บาท ใช้บัตรประชาชน 1 ใบรักษาได้ทุกที่ทุกโรค ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการโครงการนำร่อง “มะเร็ง” รักษาได้ทุกที่
แต่จะว่าไปแล้วนโยบาย “เพื่อไทย” ก็คล้ายกับ “ประชานิยม” ของพรรคไทยรักไทยที่ทำไว้เมื่อหลายปีก่อน เน้นทำให้โดนใจประชาชนระยะสั้น โดนใจและจดจำได้มาจนถึงทุกวันนี้ ได้แต่หวังว่าหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วพรรคร่วมรัฐบาลจะได้มีการหารือร่วมกันและเขียนนโยบายระยะยาวที่นำไปปฏิบัติได้จริง และแก้ไขปัญหาตรงจุดวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้ทุกระดับ โดยไม่สร้างภาระงบประมาณให้กับรัฐบาลในอนาคต