‘เศรษฐา’จ่อนั่ง ‘หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล’ แบ่งงานรองนายกฯหลังแถลงนโยบาย
“เศรษฐา” จ่อนั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ เตรียมแบ่งงานรองนายกฯรับผิดชอบ ดันลดราคาพลังงาน ค่าไฟ - น้ำมัน เข้า ครม.เข้านัดแรก “กฤษฎา” – “วราวุธ” เผยคงนโยบายสวัสดิการดูแลผู้มีรายได้น้อย เตรียมดูพื้นที่การคลังทำเงินดิจิทัล “ปานปรีย์” เตรียมฟื้นTTR เปิดตลาดต่างประเทศ
วานนี้ (5 ก.ย.) ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครม.ได้มีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกันและได้มีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรกว่าตนได้นำ ครม. เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์และปฏิญาณเป็นที่
เรียบร้อยแล้ว ตนและครม. จะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป ขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชนและทุกท่านที่มาในวันนี้มาที่นี่ มาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน รัฐบาลนี้เรามีความตั้งใจ เพราะปัญหามีมากมาย เราจะทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยทุกวัน ทุกนาที เราจะเอาความต้องการของประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง เริ่มจากวันที่ 8 ก.ย.นี้ ตนจะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย เพื่อพูดคุยรับทราบปัญหาของประชาชนทุกคน เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปและสัปดาห์หน้าในวัน 11 ก.ย.จะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา
“เราจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข โดยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โปร่งใสภายใต้หลักการที่มีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้กับประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืนในอนาคต”
เมื่อถามว่าการประชุมครม.นัดพิเศษในวันที่ 6 ก.ย. เป็นการประชุมเรื่องอะไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นเรื่องการเตรียมตัวแถลงนโยบายในวันที่ 11 ก.ย.
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ จะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเองหรือไม่ เพราะปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ค่อนข้างจะเยอะ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลนี้ทุกท่านให้ความสำคัญ ขอไปพูดคุยกันภายในพรรคร่วมรัฐบาลก่อน เพราะหลายคนอาจจะมีความคิดที่ดีและจะแจ้งให้ทราบ
เมื่อถามว่า เป็นห่วงงบประมาณล่าช้าหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนและรัฐมนตรีทุกท่านที่ยืนอยู่ ณ ที่นี้ทราบถึงปัญหานี้ และคิดว่าคงไม่เป็นอุปสรรคใดๆในการบริหาร อะไรทำได้ก่อน เราจะทำทันที
เมื่อถามว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น จะอยู่ใน 100 วันแรกที่รัฐบาลจะทำได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่เคยบอกว่า 100 วัน แต่จะพยายามทำให้ได้เร็วที่สุด คิดว่าไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้า ยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องทำ และเป็นการจ่ายรวดเดียวหนเดียวไม่ใช่ทยอยจ่าย
เมื่อถามว่า นายกฯ เป็นผู้นำรัฐบาลความหวังของประชาชน ได้ตั้งเป้าไว้หรือไม่ภายใน 1-2 ปีประชาชนจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นคำถามที่ประชาชนทุกคนอยากจะทราบ วันนี้เรื่องปัญหาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่ทุกวัน
“มั่นใจว่า รัฐมนตรีทุกท่านจะทำงานอย่างหนักพยายามเข็นนโยบายออกมา เพื่อเป็นประโยชน์ให้ประชาชนทุกคน บางอย่างทำได้เร็ว บางอย่างทำได้ช้า และจะไม่เอามาเป็นข้ออ้างในการไม่ทำทั้งหมด อะไรที่ทำได้เร็วเราจะรีบทำก่อน”
นายกฯนั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าจากการที่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีทราบว่าท่านนายกฯจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง เพื่อดูภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ โดยกระบวนการตอนนี้เรารอในเรื่องของการแถลงนโยบายโดยหลังจากแถลงนโยบายการแบ่งงานด้านต่างๆจะมีความชัดเจนขึ้น
เมื่อถามว่าเรื่องการลดราคาพลังงานทั้งเรื่องราคาน้ำมันและไฟฟ้าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ครั้งแรกหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่ารัฐบาลได้วางแผนไว้แบบนั้น โดยความชัดเจนจะอยู่ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน โดยท่านได้รับทราบในปัญหาแล้วจะนำเรื่องที่เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป
"พีระพันธุ์" แจงแนวทางลดราคาพลังงาน
ต่อมานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า ในการประชุมคณรัฐมนตรีนัดแรกหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น จะเป็นไปตามที่นายเศรษฐาบอกไปแล้วว่าจะพิจารณาปรับลดราคาพลังงาน น้ำมันและไฟฟ้า เท่าที่ดูเบื้องต้นโครงสร้างของราคาพลังงานทั้งหลาย โดยมี 2 ส่วน บางส่วนอยู่เหนือการควบคุม เช่น ราคาก๊าซ ซึ่งปรับลดในส่วนนั้นไม่ได้ แต่ในโครงสร้างราคาทั้งหมด มีหลายส่วนที่จะไปดู เบื้องต้นสามารถปรับลดได้อย่างแน่นอน
“หลังจากแถลงนโยบายเสร็จ และมีการประชุม ครม.นัดแรกก็ต้องมีมาตรการออกมา ซึ่งนายกฯ และกระทรวงพลังงานได้เตรียมการเรื่องนี้แล้ว ส่วนเรื่องของรูปแบบในการช่วยเหลือประชาชน อันดับแรก เพื่อให้เกิดความรวดเร็วจะใช้โครงสร้างเดิมก่อน ดูว่าส่วนไหนสามารถปรับลดลงไปได้ เพราะโครงสร้างราคาต่างๆ เหล่านี้ ประกอบไปด้วยหลายส่วน ส่วนไหนที่ปรับลดได้ก็ปรับลด ปรับลดราคาสุดท้ายที่ขาย เพียงแต่รัฐต้องยอมเสียสละในส่วนที่เคยได้อยู่ออกไป”
ส่วนจะใช้งบประมาณหรือวิธีการกู้ยืมมาแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ก็ต้องเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด และคุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญ เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง พยายามหาทางลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน หลักเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐบาล คือ การไม่ไปสร้างอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ หรือการดำรงชีวิตของประชาชน ต้องเป็นรัฐบาลที่สร้างการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเดินหน้าต่อไปในทุกเรื่อง
"กฤษฎา"ดูความเหมาะสมกลไกกองทุนน้ำมันฯลดดีเซล
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามสื่อมวลชนว่าในส่วนของนโยบายลดราคาน้ำมันดีเซลนั้นตอนนี้กำลังดูว่าจะใช้กลไกใดระหว่างการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุน เพราะตอนนี้กองทุนน้ำมันฯก็ยังมีรูมอยู่ต้องไปดูดีๆว่าหนี้จริงๆเท่าไหร่ผมให้ไปดูกันอยู่
ส่วนเมื่อถามว่าการจัดทำงบประมาณปี 2566 จะต้องรื้อใหม่หรือไม่ รมช.คลังตอบว่าคงไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดอะไรที่เป็นหลักการก็อาจคงไว้อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนก็ปรับไป
คลัง-พม.ประสานเสียงเดินหน้าบัตรสวัสดิการรัฐ
เมื่อถามถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นจะคงไว้หรือไม่ นายกฤษฎากล่าวว่ายังคงไว้เป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ส่วนเมื่อถามว่าในส่วนของงบประมาณหรือแหล่งเงินที่จะใช้ในนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทได้ข้อสรุปว่าอย่างไร นายกฤษฎากล่าวว่าเรื่องนี้ได้แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว หลังแถลงนโยบายจะมีความชัดเจนอีกครั้ง
เมื่อถามว่าจะมีการขยายเพดานหนี้เพื่อมาใช้ในนโยบายนี้หรือไม่ รมช.คลังไม่ตอบ แต่บอกว่าจะมีความชัดเจนอีกครั้งหลังแถลงนโยบาย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่าในส่วนของนโยบายสวัสดิการประชาชนต่างๆรัฐบาลก็คงจะคงไว
“อะไรที่ดีอยู่แล้วก็คงไม่ได้ไปยกเลิก ไม่งั้นผมก็โดนคนด่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ก็จะคงไว้เป็นสิทธิ์ประชาชน” นายวราวุธ กล่าว
เตรียมฟื้น "ผู้แทนการค้าไทย" ช่วยเปิดตลาดต่างประเทศ
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่าในส่วนของนโยบายด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศตอนนี้ต้องรอท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายงานที่ชัดเจน
รวมทั้งเรื่องของการเข้าไปดูนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศด้วย แต่ในเบื้องต้นรัฐบาลนี้จะมีการฟื้นผู้แทนการค้าไทย (TTR) ขึ้นมาช่วยดูงานในด้านนี้ด้วย ส่วนจะมีคนจากภาคเอกชนเข้ามาเป็น TTR หรือไม่ รวมทั้งจะมี TTR กี่คนเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ต้องดูต่อไปว่าจะมีการแต่งตั้งใครบ้าง