นับหนึ่ง‘รัฐบาลเศรษฐา’ จับตา‘ปรองดอง’เรื่องเก่าเล่าใหม่
ย้อนรอย "แผนปรองดอง" เรื่องเก่าเล่าใหม่ จับจังหวะก้าวย่างภายใต้รัฐบาล“รัฐบาลพิเศษ” จับตาที่สุดจะเปิดประตู “ปรองดอง” ครั้งสำคัญ หรือจะเป็นแค่เกมปาหี่ระหว่างขั้วอำนาจเท่านั้น!!
นับหนึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” สู่โหมดการบริหารราชการอย่างเต็มรูปแบบ และอย่างที่รู้กันรัฐบาลภายใต้สูตร “สลายขั้วการเมือง” และถูกขนานนามว่า เป็น “รัฐบาลพิเศษ” บ้าง “รัฐบาลปรองดอง” บ้าง สุดแท้แต่ “คอการเมือง” จะกำหนดนิยาม
ฉะนั้น นอกเหนือจากแผนคิกออฟประเทศแล้ว สิ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน หนีไม่พ้นการนับหนึ่ง “แผนปรองดองสมานฉันท์” ที่รัฐบาลพยายามประโคมโหมโรงไปก่อนหน้านี้
จังหวะก้าวย่างที่เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่ปรากฏการณ์ “แดง” เจอ “เหลือง” เพราะมี “ส้ม” ขณะเดียวกัน “สีแดง” ซึ่งเคยเป็น “เสรีนิยม” เดิม ไปจับมือ “น้ำเงิน” ซึ่งเป็น “อนุรักษนิยม” ภายใต้สูตร “มีเรา-ไม่มีก้าวไกล”
กระทั่งดัน “เศรษฐา” ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้าได้สำเร็จ ไม่ต่างอะไรกับการส่งสัญญาณว่า “ไม่ต้องเลือกก้าวไกลประเทศไทยก็ไม่เหมือนเดิม”
สอดรับกับการส่งสัญญาณการเดินทางกลับประเทศไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นเสมือนสัญญาณนำร่อง
น่าสนใจว่า จากนี้จะมีการนิรโทษกรรมบรรดาคดีความทางการเมืองต่างๆ ตามมาอีกหรือไม่
“สุ้มเสียง” จากฟากฝั่งการเมือง ล่าสุดเริ่มพูดถึงโมเดลปรองดอง รวมถึงการนิรโทษกรรมบรรดาคดีความทางการเมือง อาทิ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตั้งคำถามถึงกรณีการลดโทษ “ทักษิณ” เหลือจำคุก 1 ปี ท่ามกลางเสียงท้วงติงในเรื่องความเท่าเทียม
“เพื่อลดทอนการตั้งคำถามเรื่องความไม่เสมอภาค และเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริงและเท่าเทียม รัฐบาลนายเศรษฐา และพรรคการเมืองในสภา ควรเร่งผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม คดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนทุกฝักฝ่าย ทั้งพันธมิตรฯ นปช. กปปส. และกลุ่มเยาวชน และราษฎร ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน” ประโยคสำคัญที่ “ปิยบุตร” เรียกร้อง
ไม่ต่างจาก นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข มีข้อเสนอ นิรโทษผู้ชุมนุมและแกนนำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง สีแดง สีส้ม ทั้งคดีแพ่งและอาญา รวมถึงคดี 112 ในกรณีผู้ที่กระทำผิดมาตรา 112 แล้วยอมรับผิด โดยไม่นับรวมคดีทุจริตต่างๆ
“กรณีทักษิณกลับเมืองไทยยอมรับโทษ รับความผิด และขอพระราชทานอภัยโทษ แสดงว่าสังคมอาจเข้ายุคปรองดองสมานฉันท์เป็นรูปธรรม” นพ.ระวี ประเมิน
เกือบ 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและแทบทุกครั้งมักจะมีการตั้งคณะกรรมการสร้างปรองดองสมานฉันท์ เป็นหนึ่งในกลไกที่ฝ่ายผู้มีอำนาจมักหยิบมาใช้อยู่เสมอ
ย้อนโมเดลปรองดองในยุคเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ปี 2552 ภายหลังการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เวลานั้นมีการเสนอโมเดลปรองดอง โดยให้รัฐสภา ซึ่งมี “ชัย ชิดชอบ” เป็นประธาน เป็นเจ้าภาพ
นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี “ดิเรก ถึงฝั่ง” อดี สว.นนทบุรี เป็นประธาน
ครั้งนั้นคณะกรรมการมีข้อเสนอในระยะเร่งด่วน อาทิ ลดทิฐิ อคติ วิวาทะ และการตอบโต้ใส่ร้ายจากทุกฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านควรลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่มีอยู่เดิม และใช้สภาในการแก้ปัญหา เป็นต้น
ถัดมาในปี 2553 หลังการสลายชุมนุม นปช. ช่วง เม.ย.-พ.ค.2553 จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มี “คณิต ณ นคร” อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
คณะกรรมการมีข้อสรุป อาทิ การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ รวมถึงการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 ทั้งการใช้กำลังเหตุเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงพฤติกรรมของชายชุดดำ เป็นต้น
ปี 2554 ในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีการตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) รับไม้ต่อจาก คอป.
ครั้งนั้นรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 2548-2553 อาทิผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินรายละ 7.75 ล้านบาท
ในปีเดียวกัน ยังมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
ขณะที่ “จุดพีก” สูงสุดน่าจะอยู่ในช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีความพยายามเสนอ 5 ร่างกฎหมายปรองดอง
โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ฉบับที่เสนอโดย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ.และอดีตหัวหน้าคณะรักษาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และอีก 4 ร่างซึ่งเสนอโดย สส.เพื่อไทย รวมถึง พ.ร.บ.นิรโทษ 4 ฉบับ นำมาสู่สถานการณ์การเมืองที่สุดงอมและเกิดรัฐประหารในท้ายที่สุด
ต่อมามีการยอมรับในภายหลัง พล.อ.สนธิไปพบ “ทักษิณ” ในช่วงช่องการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมี "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เดินทางไปด้วย
ปี 2557 หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป โดยใช้กลไกของฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก่อกำเนิดหมู่บ้านปรองดองสมานฉันท์ของโรงเรียน กรรมการหมู่บ้าน ระดับอำเภอ เป็นต้น
ปี 2558 มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็นประธาน มีข้อสรุปน่าสนใจ อาทิ การอำนวยความยุติธรรม การนิรโทษกรรม และการคำนึงถึงหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ สำหรับกรณีที่ศาลได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้ว เป็นต้น
ปี 2560 คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มีข้อเสนอปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน โดยให้ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน
ปี 2564 มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ มี “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ใช้เวลาพิจารณานานกว่า 2 ปี กระทั่งช่วงต้นปี 2566 มีการนำเสนอรายงานผลการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะจำนวน 10 ข้อ อาทิ การเร่งสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ของคู่กรณี เพื่อนำมาสู่การพูดคุยหรือการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงด้วยการเปิดพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามในการโยนสูตรปรองดองมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งกลับถูกสกัดขัดขวางโดย “เกมอำนาจ” ทางการเมืองที่แบ่งสีแบ่งขั้ว
เมื่อเกมการเมืองเวลานี้ อยู่ในจังหวะก้าวย่างที่เป็นขั้นเป็นตอน หลังจากนี้จึงต้องจับตาว่าภายใต้ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ถูกนิยามว่าเป็นรัฐบาลพิเศษ จะเปิดประตูสู่การ “ปรองดอง” ครั้งสำคัญ ตามที่มีการคาดหมาย หรือท้ายที่สุดจะเป็นแค่เกมปาหี่ระหว่างขั้วอำนาจแต่เพียงเท่านั้น!!