ส่องศึก "นโยบายรัฐบาล" ฝ่ายค้าน รอถล่ม "เพื่อไทย"
เวทีรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาล แถลงนโยบาย ก่อนบริหารประเทศ จับตาไปที่ "ฝ่ายค้าน" ที่จะสร้างผลงานในการอภิปราย แน่นอนพวกเขาเตรียมการบ้านไว้พร้อมแล้ว ที่จะถล่ม "โจทก์" สำคัญคือ "พรรคเพื่อไทย"
รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” พร้อมจะแถลงนโยบายรัฐบาล ต่อรัฐสภาแล้ว การอภิปรายถูกนัดไว้ในวันที่ 11-12 ก.ย. นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้น กำหนดให้มีเฉพาะ “อภิปราย” โดยไม่มีการลงมติให้ความไว้วางใจ
ตามเอกสารของคำแถลงนโยบายของรัฐบาล แจกแจงกรอบการ “บริหารราชการแผนดิน”ไว้ เป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น, ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงแจกแจงความสอดคล้องของนโยบายรัฐบาล กับหน้าที่ของรัฐ , แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาตร์ชาติ
และในคำแถลงที่เตรียมไว้ ให้ “นายกฯเศรษฐา” รายงานต่อสภาฯ วางโจทย์สำคัญไว้ คือ “นโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นสร้างความสามัคคี ปรองดอง ในสังคมไทย รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน”
ก่อนจะไล่เรียงให้เห็นถึงวิกฤตของประเทศ ที่ตั้งต้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ภาวะหนี้สินครัวเรือน ที่ลามถึงปัญหาทางสังคม การเมือง การปกครอง ที่ะท้อนเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ประเทศขาดความพร้อมเติบโตได้เต็มศักยภาพ เพื่อโยงถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหา
แน่นอนว่า ไฮไลต์ของการแถลงนโยบาย “เศรษฐา” ถูกโฟกัส ไปยัง นโยบายพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง
หากย้อนความไปตอนหาเสียง จะพบว่า “พรรคเพื่อไทย” ประกาศวาระผลักดันสำคัญ 19 ด้าน และถูกฉายไฮไลต์ไปที่ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต สำหรับผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป, พักหนี้เกษตรกร 3 ปีแบบลดต้น ลดดอก, นโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย , ลดราคาพลังงาน ไฟฟ้า
ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570, นโยบายเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570, นโยบายทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน, แก้ไขกฎหมาย เพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ และเปลี่ยนเป็นภาคสมัครใจ
นโยบายจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการในจังหวัดนำร่อง , นโยบายกทม. ทั้ง 50 เขต มีโรงพยาบาลประจำเขต และ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ทว่าในคำแถลงนโยบายรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ผสมกับอีก 14 พรรคการเมือง สะท้อนให้เห็นถึง “รูปธรรม” ในเชิงปฏิบัติได้ยาก แม้ “พลพรรคเพื่อไทย” จะชี้แจงว่า คำแถลงนโยบาย เป็นเพียงกรอบกว้างๆ แต่เนื้อหาเชิงลึก ในแนวปฏิบัตินั้นต้องรอฟังในเวทีอภิปราย
อย่างไรก็ดี “ฝ่ายค้าน ยังบลัด” นำโดย “ก้าวไกล” ไม่ปล่อยให้เสียเวลาตรวจสอบ ทันทีที่ “รัฐบาล” แจ้งความพร้อมมายังรัฐสภา “พลพรรคสีส้ม” ประกาศแคมเปญ “ชำแหละนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของตนเองทันที
“เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน แต่หลายอย่างไม่เปลี่ยน จึงแน่ชัดว่าวันนี้ เปลี่ยนแค่นายก แต่ รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ค่าแรง? เกณฑ์ทหาร? กระจายอำนาจ? รัฐธรรมนูญใหม่? จะเปลี่ยนอะไรได้ เมื่อไม่กล้าแตะต้นตอปัญหา 11-12 ก.ย.นี้ ชำแหละนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 พร้อมฟังข้อเสนอแนะจากพรรคก้าวไกล บริหารอย่างไร ให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”
ขณะเดียวกันได้เตรียม 30ขุนพลไว้ชำแหละนโยบาย ภายใต้เวลาที่ “พรรคก้าวไกล” ได้สิทธิอภิปราย ประมาณ 10 ชั่วโมง ซึ่งจัดสรรเฉลี่ยตามโควตาเวลาที่ฝ่ายค้าน 4 พรรค คือ ก้าวไกล 10 ชั่วโมง , ประชาธิปัตย์ 1 ชั่วโมงเศษ, ไทยสร้างไทย 50 นาที และเป็นธรรม 20นาที
คาดเดาได้ว่าสิ่งที่ “ก้าวไกล” จะสะท้อนในศึกอภิปรายนโยบายรัฐบาล นั้น คือ ประเด็นที่ พวกเขาตั้งโจทย์ไว้ว่าจะ “เปลี่ยนประเทศไทย” อย่างไร ตามที่เคยหาเสียงไว้กับ “ประชาชน” ในช่วงเลือกตั้ง
ล่าสุด พริษฐ์ วัชรสินธ์ชี้แนวทางสำเร็จของ นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร ผ่านกลไกการแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 เพื่อแก้ต้นตอการ “เกณฑ์ทหารแบบบังคับ” ด้วยการ “ริบอำนาจกองทัพ” เรียกกคนเป็นทหาร ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ “ก้าวไกล” คิดว่า “มุ่งตรงกลางหัวใจของโครงสร้างอำนาจ” รวมไปถึงการสานต่อนโยบาย “ลดขนาดของกองทัพ” - “ลดตำแหน่งนายพลระดับสูง” ในอนาคต
นอกจากนี้ยังจับตา ถึง “คำโฆษณาของพรรคเพื่อไทย” ในหลากหลายแง่มุม ทั้ง “ลดค่าไฟ-ค่าพลังงาน” ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งพวกเขามองว่าเรื่องนี้ หากไม่ “ทลาย นายทุนพลังงาน” สิ่งที่รัฐบาลคิดนั้น ไม่มีทางทำได้สำเร็จแน่นอน
ขณะที่ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ตามคำแถลงนโยบายรัฐบาล ระบุไว้กว้างๆ ว่า “จะแก้ไขความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดโยงกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์”
ขณะที่แนวทาง ระบุไว้เป็น 2 กรอบ คือ “1.หารือแนวทางการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย ยอมรับร่วมกัน และ 2.หารือแนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าอย่างมั่นคง”
ทว่า “พรรคก้าวไกล” ได้ตั้งคำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน คือ 1.จะจัดประชามติ เดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ 2.คำถามประชามติจะว่าอย่างไร
เพราะพวกเขามองว่า 2คำถามหากได้คำตอบที่ชัดเจน จะสามารถทำนายอนาคต ของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ชอบธรรมทางประชาธิปไตยและสะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคม
พร้อมกับยืนหลังพิงภาคประชาชน ที่นำร่อง ชงคำถามประชามติไปยัง “รัฐบาล” แล้วก่อนหน้านี้ เพื่อล็อคประเด็นคำถามให้เดินไปสู่เป้าหมายคือ 1.รัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีเงื่อนไข หรือติดข้อห้าม แก้ไขในบางประเด็น 2.ให้ตัวแทนประชาชน ผ่าน “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มาจากเลือกตั้ง 100% ยกร่างเนื้อหา
นอกจากนั้นแล้วต้องจับตา ข้อวิพากษ์ ที่นำไปสู่ข้อเสนอแนะ เพื่อปลดล็อค “ประเทศแบบเก่า” จากโครงสร้างทางอำนาจ-ทุนของ “ฝ่ายค้านยังบลัด” หากวิเคราะห์จากสิ่งที่ทำนำร่องไปก่อนหน้านี้คือ เสนอร่างกฎหมาย
พอจะให้เห็นโครงร่างของการอภิปรายวันที่ 11 - 12 ก.ย. ว่า หัวใจของการรื้อระบบทุนได้ ต้องมาจาก “กฎหมายที่เป็นธรรรม” ทั้ง รื้อระบบภาษี, ปฏิรูปที่ดิน, โดยเฉพาะ ประเด็นคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยไม่ต้องพึ่งมาตรการเร่งด่วน คือ ขึ้นค่าแรง ที่เป็นปัจจัยทำให้ ค่าครองชีพพุ่งสูง เสี่ยงต่อการผูกปมปัญหาด้านเศรษฐกิจในระยะยาว
ขณะที่ “พรรคไทยสร้างไทย” ล่าสุด “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หัวหน้าพรรค ประกาศตรวจสอบการทำงานรัฐบาล อย่างสร้างสรรค์ เปิดวอร์รูมพรรค ชำแหละนโยบายเมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ต้องจับตาการอภิปรายถึง ปัญหาค่าพลังงาน ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน รวมถึงการผลักดัน ซอฟท์พาวเวอร์ให้เป็น พาวเวอร์ใหม่ของกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทางด้าน “พรรคเป็นธรรม” ที่มี สส.หนึ่งเดียวคือ “กัณวีร์ สืบแสง” ในสภาฯ ตั้งประเด็นที่เกี่ยวกับ การทวงคืนสิทธิของ “คน3จังหวัดชายแดนภาคใต้” ในแง่ของความสงบสุข ความมั่นคง รวมถึง การสร้างสันติภาพในพื้นที่ โดยให้ประชาชนในพื้นที่ลุกขึ้นเป็น “ตัวนำ” แทน “นโยบายรัฐ-ฝ่ายความมั่นคง”
สุดท้ายคือ “ประชาธิปัตย์” ที่มีดีกรี “ฝ่ายค้านยอดเยี่ยม” แม้ขณะนี้จะยังไม่ปรากฎว่า “ขุนพลเสื้อฟ้า” จะเตรียมประเด็นอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง เพราะมุ่งหาเสียงเลือกตั้งซ่อม สส.ระยอง ทว่า ต้องจับตาความดุเด็ด ว่าภายใต้ฟ้าเปลี่ยนสี และยุคสมัยที่เปลี่ยน พวกเขายังรักษามาตรฐานไว้ได้หรือไม่
และวันที่ 11 - 12 ก.ย. นี้ ต้องจับตาการอภิปรายของ ฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาล ที่ใช้เวลารวม 30 ชั่วโมง ว่า สุดท้ายแล้ว เวทีแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จะสะท้อนเป็นความเชื่อมั่นต่อสังคมในระยะเวลาบริหารราชการแผ่นดินอีก 4 ปี หรือ เป็นแค่ “เวทีน้ำลาย” ของสงครามการเมืองน้ำเน่า โดย “คนไทย” มองไม่เห็นอนาคตของความรุ่งเรืองใดๆ ได้เลย.