"สว."โวย ได้เวลาอภิปรายนโยบาย "เศรษฐา" คนละ 5นาที จากคนลงชื่อ59คน

"สว."โวย ได้เวลาอภิปรายนโยบาย "เศรษฐา" คนละ 5นาที จากคนลงชื่อ59คน

"เสรี" จ่อหารือหน้างาน ปรับเวลาอภิปราย หลังมี 59สว. เข้าคิวอภิปรายนโยบายรัฐบาล แต่ได้เวลาคนละ 5นาที ด้าน "สมชาย" งดร่วมวง ฝากข้อกังวล นโยบายแจกเงิน-ยุติธรรมเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของ สว. ต่อการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ต่อรัฐสภา วันที่ 11 - 12 ก.ย. นี้ ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ให้สว.ที่ต้องการร่วมอภิปรายแจ้งความประสงค์ ถึง 8ก.ย. โดยพบว่ามี สว.ร่วมเข้าชื่อแล้ว 59 คน ทำให้การจัดสรรเวลาที่ สว.ได้รับรวม 5 ชั่วโมง ต้องเฉลี่ยเเวลาอภิปรายเพียงคนละ 5 นาที

 

โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.  กล่าวว่าเวลาที่ สว.ได้รับน้อยเกินไป สำหรับเนื้อหาสาระที่เตรียมอภิปราย ดังนั้นต้องคุยหน้างานอีกครั้งว่าจะหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร

 

 

"เวลาที่ได้น้อยไป พูดออกไปอาจไม่รู้เรื่อง ต้องไปคุยหน้างานจะหาวิธีแก้ปัญหาอย่างไร สำหรับเนื้อหาที่เตรียมไว้จะพูดเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000บาท จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ยั่งยืนหรือไม่ ยังไม่รู้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน ไม่ใช่เงินหมดแล้วก็กลับมาทุกข์เหมือนเก่า จะเกิดผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศหรือไม่" นายเสรี กล่าว

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สว.กล่าวว่าตนไม่ประสงค์จะร่วมอภิปราย เนื่องจากทราบว่ามี สว.ต้องการอภิปราย 59 คนและได้เวลาพูดคนละ 5 นาที อย่างไรก็ดีในนโยบายรัฐบาล ตนกังวลในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องใช้งบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้านบาท โดยมีประชาชนได้รับ 56 ล้านคน ซึ่งไม่แยกคนรวย หรือคนจน รวมถึงนักการเมือง ข้าราชการ ซึ่งกรณีดังกล่าวหากกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สำเร็จอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตก เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งได้ 

 

\"สว.\"โวย ได้เวลาอภิปรายนโยบาย \"เศรษฐา\" คนละ 5นาที จากคนลงชื่อ59คน

นายสมชาย กล่าวว่านอกจากนั้นยังมีประเด็นที่กังวล คือ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีในนโยบายรัฐบาล เช่น กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวอย่างที่ประชาชนกำลังจับจ้องว่า รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ เพราะนายทักษิณได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1ปี ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่เมื่อรักษาตัวจนอาการดีขึ้น จะต้องถูกนำกลับไปรักษาตัวที่อยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่มีขีดความสามารถในการรักษาเพียงพอ รับโทษอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนครบ 1ปี โดยไม่มีการขอรับการอภัยโทษเพิ่มเติมอีก

 

"นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องวางหลักกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค มีความเท่าเทียมกันทุกคน จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การสร้างความปรองดองได้สำเร็จ" นายสมชาย กล่าว.