"จุรินทร์" ชำแหละ10ข้อรัฐบาล "นโยบายการละคร" เหน็บมาตรฐานต่ำกว่าส่วนสูง
"จุรินทร์" ชำแหละ10ข้อ นโยบายรัฐบาล "ไม่ตรงปก-ล่องหน" เหน็บมาตรฐานต่ำกว่าส่วนสูง ส.ส.เพื่อไทยประท้วงวุ่น แตะ "ยิ่งลักษณ์-จำนำข้าว" สวนบางพรรคอาศัยบารมี"คณะปฏิวัติ"
การประชุมรัฐสภา วาระแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายนโยบายรัฐบาลเป็นคนแรกของพรรคประชาธิปัตย์ว่า สำหรับนโนบายที่ได้มีการแถลงไปมีความเห็นเช่นเดียวกับสาธารณะชนว่า มาตรฐานของนโยบายรัฐบาลชุดนี้สวนทางกับความสูงของนายกฯ การตั้งโจทย์ประเทศมีความคลุมเครือ นโยบายเลื่อนลอยขาดความชัดเจน ฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรมวนไปวนมา
ขณะเดียวกันนโยบายที่หาเสียงกับนโยบายที่แถลงกลับเป็นเสมือนหนังคนละม้วน "ไม่ตรงปก" อย่างที่มีการวิจารณ์ทั้งนี้ขอให้ความเห็นไม่เกิน 10 นโยบาย
1.เงินเดือนปริญญาตรี25,000 บาท มีการหาเสียงอึกทุกครึกโครมสร้างความหวังให้ผู้ที่จะจบใหม่ ขอถามว่า นโยบายนี้หายไปไหน กลายเป็นนโยบายบนินจาที่หายไปแบบไร้ร่องรอย ตนขอทวงสัญญานี้แทนประชาชน
2.ค่าแรงขั้นต่ำ600บาท ต่อวันที่ถือเป็นนินจาตัวที่2 ซึ่งตอนหาเสียงมีหลายฝ่ายทักท้วง ถึงการผลักภาระให้กับประชาชน แต่พรรคเพื่อไทยกลับไปฟังคำทักท้วงจนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็น600 บาท ภายในปี2570 แต่เมื่อตรวจสอบในคำแถลงนโยบายกลับไม่มีเรื่องดังกล่าวบรรจุไว้ และเปลี่ยนเป็นนโยบายที่เหลือแค่บรรทัดเดียว คือ "ค่าแรงที่เหมาะสมและเป็นธรรม" เท่านั้น
3.รถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย ตอนหาเสียงบอกว่าทำทันที ตอนนี้ไม่ทราบว่าไปจอดหลับอยู่ที่สถานีไหน คำถามคือเรื่องนี้จะเอาเงินที่ไหนมาทำและจะต้องเอาเงินไปชดเชยบริษัทเอกชนหรือไม่อย่างไร
4.นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ การเติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 2หมื่นบาททุกเดือนแต่วันนี้กลับหายเข้ากลีบเมฆไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เรื่องนี้มีความเห็นจากนักวิชาการเกี่ยวกับเม็ดเงิน1แสนล้านที่จะต้องนำมาเติมถามว่าท่านจะเอาเงินมาจากไหน
5.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตอนหาเสียงมีการระบุว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม แต่กลับไม่ปรากฎในคำแถลงนโยบาย
แต่กลับถูกแปลงโฉมไม่เป็น "ผู้ว่าซีอีโอ"เปลี่ยนจากการกระจายอำนาจเป็นการรวบอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่นย้อนยุคไป20ปี
ต้องพูดเพื่อให้รัฐบาลได้ตระหนักว่าหาเสียงได้แต่ต้องมีความรับผิดชอบ อย่าให้เหมือนตอน 'ไล่หนูตีงูเห่า' สุดท้ายทั้ง 'หนู'และ 'งูเห่า' มาอยู่ด้วยกันและเป็นแค่เทคนิคหาเสียงหรือแค่ 'นโยบายการละคร'
6.ราคาพืชผลการเกษตร ตอนหาเสียงนายเศรษฐาย้ำชัดว่าจะไม่มีจำนำข้าวและประกันรายได้ การไม่มีนโยบายจำนำข้าวถือเป็นเรื่องดีเพราะเป็นต้นตอของการทุจริตคอรัปชั่น สร้างภาระให้กับประเทศ884,000ล้านบาท และยังต้องใช้หนี้อีก254,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ขอถามว่า ถ้านายกฯประกาศว่าไม่ทำทั้งจำนำข้าวและประกันรายได้แปลว่าหลังจากนี้จะไม่มีส่วนต่างพืชผลเกษตรกรใช่หรือไม่ ถ้าวันหนึ่งราคาตกอะไรจะเป็นตัวช่วยเกษตรกรยังชีพได้
นายกฯบอกว่าจะพักหนี้เกษตรกรตนไม่ค้าน แต่เห็นว่าการพักหนี้เป็นเพียงการหยุดต้นหยุดดอก แต่หลังจากพักหนี้ดอกกับต้นก็จะมารวมกันกลายเป็นหนี้ต่อไป การพีกหนี้จึงเป็นเพียงการต่อลมหายใจชั่วคราวเท่านั้น
7.เงินดิจิทัลวอลเล็ต10,000 บาท ตนไม่ปฏิเสธว่ารัฐบาลต้องทำ และต้องทำตามที่หาเสียง
แต่มีคำถาม2ข้อ 1.ทำอย่างไร 2.เอาเงินมาจากไหน วันนี้สังคมยังสับสนรูปแบบที่จะทำมาใช้ทั้งแอปเป๋าตัง วันนี้บอกใช้บล็อกเชน
ก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณฯออกมาระบุถึงงบประมาณสำหรับนโยบายรัฐบาลชุดนี้มีประมาณ2แสนล้านบาท แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตกลับต้องใช้งบ5.6แสนล้านบาท ถามว่าเงินส่วนที่เหลือจะนำมาจากไหน ต่อให้เอางบประมาณ6-7ปีมาใช้ก็ไม่พอ
นโยบายดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับนโยบายที่ไปตายเอาดาบหน้าและขอเตือนว่าอย่าให้นโยบายนี้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายเป็นอันขาด
8.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าประชาธิปัตย์ พร้อมให้การสนุบสนุนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อสังเกตถึงนโยบายรัฐบาลการที่ระบุว่าไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในหมวด2 เป็นเรื่องดี แต่ขอถามว่า การเขียนไม่ชัด จะสามารถแก้ในหมวด1จำนวน5มาตราได้ใช่หรือไม่
โดยเฉพาะมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ หรือมาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เหตุใดจึงไม่เขียนให้ชัดว่าจะไม่แก้หมวด1และหมวด2
9.การทุจริตคอรัปชั่นเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจังมากแค่ไหน เพราะอ่านทั้งเล่มรัฐบาลมีการระบุแค่ ครึ่งบรรทัดในส่วนของนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน
โดยระบุแค่ว่า "การป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น"
รัฐบาลต้องตระหนักว่าจะไม่ทำเหมือนในอดีตเพื่อรักษาประชาธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของประเทศเพราะรัฐบาลในอดีตเคยถูกยึดอำนาจมา2ครั้งเพราะเหตุแห่งการทุจริตและการออกกฎหมายล้างผิด ท่านจะต้องไม่ดำเนินการดังกล่าวอีก
10. การประกาศฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลข้ามขั้วแม้จะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลสลายขั้ว แต่สลายความขัดแย้งไม่ได้ การที่จะสลายได้จะต้องมาจากหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกันไม่เว้นแม้แต่นักโทษรวยหรือนักโทษจน ย่อมต้องเท่าเทียมและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
การพระราชทานอภัยโทษที่ประกาศในราชกิจจินุเบกษาเมื่อวันที่1ก.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ ผู้รับพระราชทานอภัยโทษรวมถึงรัฐบาลต้องสำนึก ว่าผู้รับพระราชทานอภัยโทษยังมีความผิดหากมีคำพิพากษาในอนาคตก็ต้องรับผิด
รัฐบาลมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมอย่างเท่าเทียมถ้ารัฐบาลก่อนหน้าทำไม่ถูก ท่านก็ต้องทำให้ถูกอย่างสร้างบรรทัดฐานใหม่เพื่อเหยียบย่ำหัวใจคนไทยอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างนายจุรินทร์อภิปรายช่วงหนึ่ง ได้มีส.ส.เพื่อไทย อาทิ น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ สส.กทม. ได้ลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายของนายจุรินทร์ ในประเด็นนโยบายจำนำข้าว ที่มีการอภิปรายเลยกรอบการอภิปรายมีการพาดพิงรัฐบาลในอดีต เข้าข่ายอภิปรายเท็จและสร้างความเสียหายให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รวมทั้งนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ดีแต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีโอกาสที่ทำแต่โดนปฏิวัติเสียก่อน ไม่ต่างอะไรกับกระบวนการไล่ล่าและเปลี่ยนรัฐบาล
ส่วนประเด็นการถูกปฏิวัติด้วยการทุจริต เป็นการใส่ร้ายเกิดเหตุความเป็นจริง สังคมย่อมรู้ว่าการปฏิวัติเกิดขึ้นจากอะไร บางพรรคก็อาศัยบารมีของคณะปฏิวัติ แต่ขณะนี้กำลังสูญเสียอำนาจและสูญเสียอะไรอีกหลายอย่าง
แต่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมวินิจฉัยว่า เรื่องดังกล่าวขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะชี้แจงต่อไป พร้อมกำชับให้นายจุรินทร์ระมัดระวังการอภิปราย