ดีเอสไอ ลุยสอบธุรกิจ 'กำนันนก' ส่อฮั้วประมูลหรือไม่ เรียก 65 บริษัทให้ปากคำ
'ดีเอสไอ' เรียก 65 บริษัทกราวรูด สอบปากคำพยาน 18-20 ก.ย. เหตุเคยยื่นซื้อซองประมูลโครงการเดียวกับ 2 บริษัท 'กำนันนก' ส่อต้องสงสัย พร้อมลุยสืบค้นที่มาบริษัท เหตุมีเงินหมุนเวียนหลักร้อยล้านบาทต่อปี
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการสอบสวนนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ 'กำนันนก' ผู้ต้องหาคดีสั่งยิงสารวัตรทางหลวง หลังจากพบว่าเป็นกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นใน 2 บริษัทคือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด โดยทั้ง 2 แห่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงกรมทางหลวง ระหว่างปี 2540-ปัจจุบัน อย่างน้อย 801 สัญญา รวมวงเงินกว่า 4.1 พันล้านบาทนั้น
พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูลฯ) ทำการสืบสวนกรณีบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งมีนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก เป็นกรรมการบริษัท ได้ประมูลงานโครงการของรัฐ ตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน กว่า 1,300 โครงการ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท หลังพบเบาะแสข้อมูลการประมูลโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน มีการกระทำผิดเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ขณะที่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า วานนี้ (10 ก.ย.) เราได้มีมอบหมายให้นักวิเคราะห์บัญชี ดำเนินการตรวจสอบงบดุลของทั้งสองบริษัทดังกล่าวและบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งได้รายละเอียดที่เข้าข่ายน่าสงสัย โดยเฉพาะกรณีที่รายได้ไม่สอดคล้องกับงบดุล เพราะเมื่อตรวจสอบธุรกิจของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก พบว่ารายได้ค่อนข้างมีมูลค่าทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งหากดูจากการยื่นงบดุลที่ผ่านมาไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่าสินทรัพย์ในแต่ละปีมีมูลค่าค่อนข้างสูง จึงหมายความได้ว่าบริษัทของกำนันนกค่อนข้างมีขนาดใหญ่โต
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า ทั้งยังมีสินทรัพย์หมุนเวียนตั้งแต่หลัก 100 ล้านบาทขึ้นไป อาทิ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด มีหลักทรัพย์กว่า 100-200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอก็ตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเงินที่ถูกมาจดจัดตั้งบริษัทนั้นมีที่มาอย่างไร ซึ่งก็จะต้องไปสืบค้นขยายผลต่อไปว่าที่มาของเงินมาจากที่ไหน หรืออาจจะมีธุรกิจข้างนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็เป็นไปได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวน ดีเอสไอจึงต้องตรวจสอบให้ละเอียดและตรวจสอบให้ครบทุกมิติ รวมทั้งจะต้องตรวจสอบการครอบครอง การได้มาของอสังหาริมทรัพย์ และรายการทรัพย์สินอื่นๆด้วย เช่น อาคารที่พัก บ้านพัก รถหรู เป็นต้น
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวอีกว่า วานนี้ตนได้ออกหมายเรียกพยานแก่ 65 บริษัท เพื่อให้ทยอยเข้าให้ข้อมูลชี้แจงในห้วงวันจันทร์ที่ 18 ก.ย. ถึงวันพุธที่ 20 ก.ย. ซึ่งบริษัททั้งหมดนี้เคยมีการยื่นซื้อซองใน 2 โครงการ ได้แก่ การประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมาย 346 (ปีงบประมาณ 2564) และการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม - ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประมูล e-bidding ซึ่งเป็นพฤติการณ์ต้องสงสัย
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวด้วยว่า หลังจากนั้นดีเอสไอจึงจะเข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัททั้ง 65 แห่ง รวมถึงในการสอบปากคำบริษัทเหล่านี้ในฐานะพยานนั้น เราจะถามผู้ยื่นซื้อซองว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับการประมูลเหล่านี้ได้อย่างไร มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และระหว่างนั้นเคยถูกข่มขู่คุกคาม บังคับขู่เข็ญไม่ให้เข้ามาในวันประมูล e-bidding หรือไม่ เพราะจากกรณีคดีในท้องถิ่นที่ผ่านมา พบว่ามักจะมีมือที่สามโทรศัพท์ไปข่มขู่ มีพฤติการณ์การกีดกันราคาเกิดขึ้น บางคนอาจจะไม่รู้ พอไปยื่นซื้อซองในพื้นที่ที่มีคนดูแลอยู่แล้ว ก็มักจะมีกลุ่มคนที่เข้ามาอ้างว่าโครงการเหล่านี้ถูกกันไว้แล้ว อ้างว่าเป็นโครงการของผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งการเตรียมเข้าตรวจค้นในขั้นตอนนี้ เราจะเข้าตรวจค้นเพื่อรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานเพิ่มเติม และเมื่อดำเนินการต่อเนื่องจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานให้มีความชัดเจน ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป คือ ขอศาลอนุมัติตรวจค้นบริษัทรายสำคัญที่มีความเกี่ยวข้อง