“แก้ รธน.”ชนวนขัดแย้งใหม่ รัฐบาล โยนรัฐสภา “กันชน”
เมื่อ "รัฐบาล เศรษฐา" ไม่เคาะนับหนึ่ง "ประชามติแก้รธน." ฝ่ายที่เชียร์ให้ "ลุย"มาตลอด มองว่านี่คือ "ถ่วงเวลา" แน่นอนว่าการไม่ผลีผลาม และ โยนให้ "รัฐสภา" เป็นกันชน ขัดแย้ง คือความ "เขี้ยวลากดิน" ของฝ่ายการเมือง
นัดแรกของ “ครม.เศรษฐา” ยังไม่มีข้อสรุปต่อประเด็นการจัดทำประชามติ ให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนอย่างที่เคยพูดไว้ตอนหาเสียง
การขยับขับเคลื่อน มีเพียงนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจตั้ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบตั้ง "คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ"
โดยนายกฯ ระบุถึงแนวทางว่า “จะยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ และใช้เวทีรัฐสภาหารือรูปแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญและประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน”
ต่อประเด็นนี้เอง “ภูมิธรรม” ฐานะกุนซือด้านการเมืองของพรรคเพื่อไทย สะท้อนความเห็นของตนเองเช่นกัน ผ่านเวทีรัฐสภา เมื่อ 12 ก.ย. ระบุว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่รอบคอบ และไม่คิดให้รอบด้าน จะเป็นชนวนขัดแย้งใหม่ และเป็นปัญหาต่อประเทศ ดังนั้นต้องดูให้รอบคอบ ละเอียด ไม่ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งสังคมเพิ่มเติม”
พร้อมย้ำด้วยว่า “สำหรับเรื่องประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ทันที ในการประชุมครม.นัดแรก ยืนยันจะนำวาระจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ที่ประชุม เพื่อยืนยันในสิ่งที่คิด และทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทุกฝ่าย และได้รัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาให้ประชาชนได้”
ทว่า มติเรื่อง “ประชามติแก้รัฐธรรมนูญ” ที่ออกมา “ผิดคาด” และถือว่า “ดับฝัน” ภาคประชาชนในกลุ่มสภาประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ไอลอว์ และ พรรคก้าวไกล ที่ต้องการเร่งเกมแก้รัฐธรรมนูญ
และคิดล่วงหน้าไปว่า ครม.นัดแรกจะมีมติให้ดำเนินการทำประชามติ ตามขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 กำหนด คือ "นับหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ"
แน่นอนว่า ในมุมคนต้องการแก้รัฐธรรมนูญ มองเจตนารัฐบาลเป็นอื่นไม่ได้ว่านี่คือ “การถ่วงเวลา”
ต้องยอมรับว่า ข้อกังวล “ปลุกชนวนความขัดแย้งสังคม” รอบใหม่ ที่กุนซือเพื่อไทยประเมิน และกลายเป็นขั้นตอนที่ต้องรอเวลา ตามที่นายกฯเศรษฐาชี้แจงเมื่อ 13 ก.ย.นั้น เท่ากับว่า กระบวนการต้องวนกลับมาให้ “รัฐสภา” เป็นผู้พิจารณา
หรืออีกนัย คือ เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น ทั้งในประเด็น “ที่จะแก้ไข” รวมถึง “ประเด็นประชามติ” ที่เชื่อว่าจะมีปมขัดแย้งให้สังคมได้ขบคิดแน่นอน
หลังจาก มุมคิดของการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ" ที่ ภาคประชาชนกลุ่มหนึ่ง ต้องการ กับ "ไม่แก้ทั้งฉบับ" ตามที่ นายกฯเศรษฐา ย้ำต่อที่ประชุมรัฐสภา ระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อ 11 ก.ย. ว่า จะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็น ความเห็นต่างกัน
ขณะเดียวกัน ยังมีความเห็นของ “สว.” ในฝั่งสวามิภักดิ์ขั้วเก่า ที่มองว่า “ไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะแก้บางประเด็น หรือแก้รายมาตรา ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ย่อมมีความเหมาะสมมากกว่า อีกทั้งจะประหยัดงบประมาณที่ต้องนำไปทำประชามติ”
ในสมัยสภาฯ ชุดที่ผ่านมา มีผลการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวมถึงกลไกของ สว.เคยศึกษาการจัดทำประชามติ จึงเป็นประจักษ์หลักฐานที่ทำให้เห็นถึงน้ำหนักของการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่มีปัญหาเท่านั้น
ขณะเดียวกันประเด็นที่ถูกเพ่งเล็ง ต่ออำนาจ สว.ร่วมโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้น อีกไม่ถึง 8 เดือนข้างหน้าจะสิ้นสุดลงแล้ว
ดังนั้นกระบวนการที่ "รัฐบาล” เลือกใช้ “รัฐสภา” เพื่อหารือแนวทางทำประชามติ รวมถึงแนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำแถลงนโยบาย รวมถึงมติ ครม.ที่ออกมา เชื่อว่าเป็นวิธีโยนปัญหาที่อาจเป็น “ชนวนขัดแย้งในสังคม” ต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสภา เพื่อเป็น “กันชน” ลดแรงกระแทกการเมือง ที่อาจกระทบต่อ “รัฐบาลมือใหม่”
การโยนลูกเช่นนี้ ต้องรอลุ้นว่าจะเป็นผลดี หรือผลเสียกับรัฐบาลกันแน่ เพราะหากใช้เวทีสภา ย่อมเข้าทาง “ก้าวไกล” ที่จะใช้เกมนี้ สร้างความได้เปรียบทางการเมืองได้อีกหลายต่อ.