มองเศรษฐกิจไทยในยุคไร้การห้อยโหน | ไสว บุญมา

มองเศรษฐกิจไทยในยุคไร้การห้อยโหน | ไสว บุญมา

เอกสารการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันจันทร์ยืนยันความแตกต่างอย่างเด่นชัด ระหว่างรัฐบาลใหม่กับรัฐบาลที่ผ่านมาหลายสมัย ได้แก่ ต่อไปนี้จะไม่มีการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาโหนอีก

จริงอยู่เอกสารใช้คำว่า “พอเพียง” หนึ่งครั้ง แต่ไม่ใช่ในบริบทของแนวคิดดังกล่าว หากใช้ในประโยคที่ว่า “นอกเหนือไปจากรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นพอเพียงต่อการเลี้ยงชีพแล้ว รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างและขยายโอกาสให้กับประชาชน...” 

หากเรายึดเอกสารนี้เป็นตัวชี้วัด เราอาจสรุปได้ว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ยึดการเสแสร้งเป็นครรลองของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดังรัฐบาลที่ผ่านมา  อย่างไรก็ดี ยังมีเวลาอีกนานก่อนที่เราจะฟันธงลงไปได้ด้วยความมั่นใจเต็มร้อยว่ารัฐบาลจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่

เนื่องจากแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสามารถแก้ความบกพร่องของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักได้ จึงน่าเสียดายที่รัฐบาลใหม่จะไม่นำมาใช้เป็นฐานของนโยบายเศรษฐกิจ  แต่การไม่นำมาโหนก็มีข้อดีในแง่ที่นอกจากจะไม่เสแสร้งแล้ว ยังมีข้อดีอื่น ๆ อีกด้วย

เช่น ไม่ตอกย้ำความเข้าใจผิดในแก่นของแนวคิดอันล้ำค่า และไม่สูญงบประมาณไปกับการจัดกิจกรรมไร้สาระ จำพวกขึ้นป้ายถ่ายรูป อันเป็นการตอกย้ำการยอมรับความฉ้อฉล

เนื้อหาในเอกสารการแถลงนโยบายส่วนใหญ่พูดถึงเป้าหมายและแนวนโยบายแบบกว้าง ๆ เท่านั้น  เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้  อย่างไรก็ดี เอกสารมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นซึ่งรัฐบาลต้องการทำอย่างเร่งด่วน

  ก่อนพูดถึงมาตรการเหล่านั้น ขอเรียนว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อยู่ในกรอบของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักที่ชาวโลกใช้กันอยู่ 

จุดบอด หรือข้อบกพร่องของแนวคิดนี้ได้แก่ การกระตุ้นให้บริโภค หรือใช้ทรัพยากรโลกเพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด 

มองเศรษฐกิจไทยในยุคไร้การห้อยโหน | ไสว บุญมา

ผลที่ชาวโลกส่วนใหญ่ในจำนวนกว่า 7 พันล้านคนพยายามบริโภคแบบนั้นพร้อมกันนำไปสู่ปัญหาสาหัสใน 2 ด้านด้วยกัน นั่นคือ

การใช้ทรัพยกรแบบทำลาย ส่งผลให้ระบบนิเวศขาดสมดุลร้ายแรงจนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั้งแบบสุดขั้วบ่อย ๆ ในระยะสั้นจำพวกลมพายุใหญ่และภัยแล้ง และแบบการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานซึ่งแสดงออกมาทางด้านภาวะโลกร้อน  สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบร้ายแรงต่อความยั่งยืนของมนุษยชาติ

การแย่งชิงทรัพยากรกันจากระดับครอบครัว ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งสงครามระหว่างประเทศซึ่งมีผลกระทบร้ายแรงต่อความยั่งยืนของมนุษย์ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างกว้างขวาง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น นำด้วยการแจกเงินดิจิทัลที่มีค่าเท่ากับ 10,000 บาทให้แก่คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน การพักชำระหนี้สิน การลดราคาพลังงาน การกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากการยกเว้นวีซ่า 

สาระส่วนใหญ่ของมาตรการเหล่านี้ อยู่ที่การกระตุ้นการบริโภคซึ่งเป็นปัจจัยในการก่อให้เกิดจุดบอดของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักดังที่อ้างถึง

พร้อมกันนั้นก็เป็นการเพิ่มและเสริมมาตรการประชานิยมแบบเลวร้าย ซึ่งรัฐบาลเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2544  มาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายนำไปสู่ความล่มจมอย่างไรโดยเฉพาะในละตินอเมริกาคอลัมน์นี้ได้สาธยายหลายครั้งแล้ว จึงจะไปพูดถึงอีกในวันนี้

อย่างไรก็ดี คราวนี้รัฐบาลมีมาตรการใหม่ในรูปของการแจกเงินดิจิทัล  เงินนี้จะมาจากไหนอย่างไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์ 

หากมาจากรัฐวิสาหกิจดังที่มีข่าวบางกระแส ผลร้ายอาจเป็นอย่างไรอาจไปดูกรณีของเวเนซุเอลาซึ่งมีรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันระดับต้น ๆ ของโลก  หากมาจากทุนสำรองของชาติ อาจไปดูกรณีของอาร์เจนตินาซึ่งครั้งหนึ่งมีทุนสำรองกองใหญ่นับได้ถึง 70% ของทุนสำรองในละตินอเมริกาทั้งหมด 

หรือหากเป็นการสร้างขึ้นมาจากอากาศเช่นเดียวกับเงินดิจิทัล หรือคริปโตสกุลต่าง ๆ ผลของมันเท่ากับมีการพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาใหม่  หากครั้งนี้มีทางทำได้ อาจคาดเดาได้ทันทีว่าครั้งต่อ ๆ ไปก็จะทำได้เช่นกัน

ทั้งอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาใหม่เพื่อใช้สนับสนุนมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายเมื่อไม่สามารถหาทุนจากแหล่งไหนมาเพิ่มได้แล้ว 

หากรัฐบาลไทยทำบ้างตั้งแต่ตอนนี้ย่อมจะมีค่าเท่ากับการย่นเวลาเข้าสู่ความล่มจมอันเป็นผลสุดท้ายของการใช้ประชานิยมดังกล่าว