ด่วน!ไทยชนะคดี 'โฮปเวลล์' - 'พีระพันธุ์' โพสต์แจ้งข่าวดี
‘พีระพันธุ์’ โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งข่าวไทยชนะคดี 'โฮปเวลล์' มหากาพย์ อภิมหาโครงการด้านคมนาคมขนาดใหญ่ หลัง ‘เอกชน’ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 5.6 หมื่นล้านบาท ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กสั้นๆ มีเนื้อหาว่า ไทยชนะคดี โฮปเวลล์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท
วันนี้ (18 ก.ย.2566) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2565 มีคำสั่ง ให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า กระทรวงคมนาคม และรฟท.ได้ทำสัญญา ลงวันที่ 9 พ.ย.2533 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. มีกำหนดเวลา 30 ปีนับแต่สัญญามีผลบังคับ สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญา กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เห็นว่าการก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค.2541 บอกเลิกสัญญากับผู้คัดค้าน
โดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2541 ซึ่งในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมาย เมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องเสนอภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุ แห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น
เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 30 ม.ค.2542 แต่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าว ในระหว่างนั้นมีการตรา พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาใช้บังคับแทน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 แต่ก็มิได้กำหนดเวลาในการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับ สัญญาทางปกครองเอาไว้ จึงต้องเป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
การที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)นำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ของคณะอนุญาโตตุลาการได้มีการตรา พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2551 โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 51 เดิม และบัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีบัญญัติที่มีผลใช้บังคับกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทันที ทำให้ระยะเวลาการฟ้องคดีเปลี่ยนเป็นภายใน 5 ปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่งผลทำให้ระยะเวลาการยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานระหว่างกระทรวงคมนาคม รฟท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ขยายเป็นภายใน 5 ปี ซึ่งในการตีความปัญหาข้อกฎหมาย และการปรับใช้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาคดีนี้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ฉะนั้น จึงไม่อาจใช้วิธีการนับระยะเวลาตามระเบียบอื่นหรือแนวทางการตีความปัญหาข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดีเป็นอย่างอื่นได้
“ ดังนั้น การที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.2546 แต่ บริษัท โฮปเวลล์ฯ กลับยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงขาดอายุความตามกฎหมาย”
และโดยที่ปัญหาเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาได้ตามข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นพ้นเวลาไว้พิจารณา และมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 จึงเป็นกรณีที่ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอน และปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
นอกจากนี้กรณีของผู้ร้องทั้งสอง รู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และครบกำหนดห้าปีในวันที่ 27 ม.ค.2546 การที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 ขอให้มีคำชี้ขาด และบังคับให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายดังกล่าวที่ศาลปกครองมีอำนาจ เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเช่นกัน
ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221 - 223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์