แทคติก‘ข้อบังคับ’สยบคาวสว. คำถามถึง‘วุฒิสภา’ต้องมีไหม?

แทคติก‘ข้อบังคับ’สยบคาวสว. คำถามถึง‘วุฒิสภา’ต้องมีไหม?

กรณี "กิตติศักดิ์" ที่ผลลงมติ "วุฒิสภา" ไม่เอาผิดจริยธรรม ปมอิทธิพลในวัดบางคลาน ล้วนเป็น "แทคติก" กฎหมายที่ค้านสายตาสังคม ยังไม่นับปม "ธานี-อุปกิต" ที่สะเทือนสภาสูง และถูกตั้งคำถามว่า "จำเป็นต้องมีไหม?"

แม้ “วุฒิสภา” ออกเสียงค้านมติของ “คณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา” ที่สอบสวนการกระทำของ “กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” สว.คนดังแห่งวัดบางคลาน จ.พิจิตร ว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายผิดจริยธรรม พร้อมเสนอให้ลงโทษ “สถานเบา” ด้วยการ “ว่ากล่าวตักเตือน”

 

มติวุฒิสภา ที่มี “สว.” ร่วมประชุมทั้งหมด 163 คน คือ เห็นชอบ 93 เสียง ไม่เห็นชอบ 33 เสียง และไม่ออกเสียง 37 เสียง แม้เสียงเห็นชอบกับรายงานและบทลงโทษของ “กรรมการจริยธรรม” ทว่าตามข้อบังคับของวุฒิสภากำหนดเกณฑ์ที่จะเอาผิดบุคคลที่ถูกสอบจริยธรรม ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ของ สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือ 124 เสียง

 

บทสรุปปิดท้ายของมติที่เกิดขึ้น คือ “สว.กิตติศักดิ์ ไม่ได้กระทำอันอาจทำให้บุคคลอื่นเกิดความเคลือบแคลง หรือสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือให้ความเห็นที่มีลักษณะเป็นการใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลอื่น หรือนำเอาเรื่องที่เป็นเท็จมาอภิปรายหรือแสดงความเห็นในการประชุม” รวมถึง “ไม่กระทำการใดหรือปฏิบัติการใดที่เสื่อมเสียต่อเกียรติของการเป็น สว.”

 

ทว่า ข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านละแวกวัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) อ.โพทะเล จ.พิจิตร “สว.กิตติศักดิ์” คือ คนนอกพื้นที่ ที่เข้าไปมี “อิทธิพลใหญ่” ในพื้นที่

แทคติก‘ข้อบังคับ’สยบคาวสว. คำถามถึง‘วุฒิสภา’ต้องมีไหม?

รวมถึงมีชื่อเป็น 1 ใน 2 ผู้ที่ถูกหมายเรียก เพราะเชื่อได้ว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุชายชุดดำทำร้ายพระและชาวบ้าน ไวยาวัจกรวัดบางคลาน จนได้รับบาดเจ็บเมื่อ 6 มี.ค.66

 

 ล่าสุด เมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่วัดบางคลาน รวมตัวเดินประท้วงเพื่อขับไล่ “สว.กิตติศักดิ์” ที่อาศัยอยู่ภายในวัดให้ออกจากพื้นที่และขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง สว.

 

เป็นบทสะท้อนให้เห็นว่า สว.กิตติศักดิ์ ถูกเคลือบแคลงสงสัยต่อการใช้ “อภิสิทธิ์ของ สว.” เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่เชื่อได้ว่า เกี่ยวข้องกับ “ข้อพิพาท” ในวัดบางคลาน ที่ปัจจุบันยังหาข้อยุติไม่ได้ แม้ตามกฎหมาย มีเจ้าอาวาสวัดบางคลานองค์ใหม่ ถูกแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ตาม

 

ต่อประเด็นมติของวุฒิสภาในกรณีของ สว.กิตติศักดิ์นั้น “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา บอกว่าเป็นการยกประโยชน์ ไม่ใช่ “การอุ้ม” หรือ “ช่วยเหลือ” เนื่องจากการลงมติเป็นไปตามวิจารณญาณ และมองว่าวุฒิสภาไม่รู้รายละเอียด แทคติก‘ข้อบังคับ’สยบคาวสว. คำถามถึง‘วุฒิสภา’ต้องมีไหม?

ขณะที่เดียวกันยอมรับว่า “ไม่ได้ดูรายละเอียดที่เกิดขึ้นที่ จ.พิจิตร และไม่ได้ศึกษาว่าฝ่ายไหนผิด ทราบแค่ว่าขณะนี้ตำรวจตั้งข้อหาแล้ว แต่ยังไม่มีหนังสือมาถึงวุฒิสภา ขณะที่กิตติศักดิ์เองขอใช้สิทธิคุ้มครอง” พรเพชร ระบุ

 

เท่ากับยืนยันว่าการลงมติของวุฒิสภาที่ค้านกับผลสอบของ “กรรมการจริยธรรม” นั้น คือการยกประโยชน์ให้ เพราะเกิดจากการไม่รู้ในข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์จริงในพื้นที่ เท่ากับ “อุ้มกิตติศักดิ์” ให้ข้องแวะกับข้อพิพาทในวัดบางคลานได้ต่อ ทั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งประเด็นสงสัยว่าเป็นผู้มีอิทธิพล หรือ “มีผลประโยชน์ทับซ้อน” อื่นใดหรือไม่

 

กรณี “อุ้มกิตติศักดิ์” ครั้งนี้ เชื่อว่ากระทบต่อภาพลักษณ์ของวุฒิสภาในสายตาของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถเป็นที่พึ่งหวังต่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และมติที่ออกมาเท่ากับเป็นการ ส่งเสริมให้ สว.กิตติศักดิ์เข้าไปก้าวก่ายภารกิจที่นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ของ สว. ตามที่ระเบียบ ข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญกำหนด

 

อย่างไรก็ดี กรณีของ สว.กิตติศักดิ์นั้น หากเทียบกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น คือ “ธานี อ่อนละเอียด” และ “อุปกิต ปาจรียางกูร” ถือว่าเนื้อหาเบาหวิว

เพราะในกรณีของ “สว.ธานี” แม้จะถูกยื่นตรวจสอบจริยธรรม กรณีที่ใช้อำนาจของ สว.ฝาก “หญิงคนใกล้ชิด” เข้ารับตำแหน่งทางราชการ แต่ไม่ได้ไปปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมายและตำแหน่งที่แท้จริง

ทว่า บทสรุปของผลสอบคือวุฒิสภาลงมติ “ล้างการกระทำ” ที่เป็นข้อกล่าวหา ด้วยแทคติกทางกฎหมาย ด้วยการออกเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 124 เสียง ซึ่งผลการลงมติ คือเห็นชอบ 103 คะแนนต่อไม่เห็นชอบ 33 คะแนน

แทคติก‘ข้อบังคับ’สยบคาวสว. คำถามถึง‘วุฒิสภา’ต้องมีไหม?

แม้ว่ากรรมการจริยธรรมจะสอบสวนและสรุปการลงโทษสถานเบาที่สุดคือ “ว่ากล่าวตักเตือน” ก็ตาม

 

ต่อมาคือกรณีของ “อุปกิต” ที่มีข้อกล่าวหาว่า สมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจากการค้าขายยาเสพติดในเครือข่าย “ทุน มิน ลัต” นักธุรกิจชาวเมียนมา

แทคติก‘ข้อบังคับ’สยบคาวสว. คำถามถึง‘วุฒิสภา’ต้องมีไหม?

ในทางคดี พนักงานสอบสวน ตำรวจปราบปรามยาเสพติดสั่งให้ดำเนินคดี แต่ขั้นตอนขณะนี้ยังไปไม่ถึง เพราะรอการสั่งฟ้องคดีหรือไม่จากอัยการสูงสุดก่อนในช่วงปิดสมัยประชุม เนื่องจาก “สว.อุปกิต” อ้างในเอกสิทธิ์คุ้มครองห้ามนำตัวไปดำเนินคดีตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

 

ทว่า นับตั้งแต่ที่มีเรื่อง “สว.อุปกิต” เกิดขึ้น วุฒิสภาปฏิเสธที่จะให้ความเห็น หรือวิจารณ์ รวมถึงไม่มีเรื่องที่นำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางจริยธรรม ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ “นักการเมือง-สว.” พึงมี

แทคติก‘ข้อบังคับ’สยบคาวสว. คำถามถึง‘วุฒิสภา’ต้องมีไหม?

แถมปล่อยให้เรื่อง “สว.อุปกิต” ในชั้นของวุฒิสภาเงียบหายไปตามสายลม แม้จะมีการทวงถามอย่างไม่เป็นทางการ ถึงความรับผิดชอบร่วมกันของ “วุฒิสภา” ที่ยังอุ้ม “สว.” ซึ่งถูกสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ว่าพัวพันคดีอาญาที่มีความร้ายแรงไว้ให้มีหน้าที่และอำนาจในทางการเมืองต่อไป

 

ดังนั้น ในข้อสงสัยของสังคมที่เกิดขึ้นว่า เป็นการช่วยเหลือกันหรือไม่ ทั้งในเรื่องของ “กิตติศักดิ์-ธานี-อุปกิต” การลงมติ “อุ้ม” ผ่านแทคติกข้อบังคับ หรือ “เลือกที่จะเงียบ” ในทางรูปธรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการให้ความช่วยเหลือในแบบฉบับของนักการเมือง ที่ยกแถว ก่อกำเนิดมาจาก “ระบบอุปถัมภ์” และยังใช้ความเป็นระบบอุปถัมภ์นั้น โอบอุ้มกันต่อไป

 

ฉากทัศน์ต่อไป สังคมอาจตั้งคำถามได้ว่าจำเป็นต้องมี สว.จำพวกนี้ หรือสภาสูงต่อไปอีกหรือไม่.