'ก้าวไกล' ชงร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน หวังคลายวิกฤติ ตรวจสอบถ่วงดุล เอาผิด จนท.ได้

'ก้าวไกล' ชงร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน หวังคลายวิกฤติ ตรวจสอบถ่วงดุล เอาผิด จนท.ได้

'ก้าวไกล' ชงร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน กำหนดให้ต้องขออนุมัติจาก 'ครม.-สภาฯ' ทำแผนแจงเหตุคลายวิกฤติ หวังตรวจสอบถ่วงดุล เอาผิด จนท.ที่กระทำผิดได้ ส่งเสริมให้รัฐบาลใช้อำนาจเป็นที่ยอมรับ ด้าน สส.เพื่อไทย ร่วมหนุนร่างกฎหมายด้วย

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 เวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.ก้าวไกล แถลงข่าวยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ... เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า สืบเนื่องมาจากการตั้งกระทู้ถามสดต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี หยิบยกปัญหาการประกาศใช้  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้  มีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีการประกาศใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง และใช้ในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 โดยใช้ในลักษณะการปราบปรามผู้ชุมนุมเห็นต่างทางการเมือง โดยการประกาศใช้ปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ปัญหาทั้งหมดที่มีจึงเสนอร่างพ.ร.บ.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีกฎหมายทำให้สภาฯ สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหาร

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  มีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. การประกาศ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ยังคงอำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศ  มีเงื่อนไขต้องขออนุมัติ ครม.ภายใน 3 วัน และต้องขออนุมัติจากสภาฯ ภายใน 7 วัน เพื่อให้ สส.ตรวจสอบ
  2. ในการขออนุมัติจากสภาฯ รัฐบาลต้องทำแผนชี้แจงเพื่อให้เห็นว่าจะแก้วิกฤตสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร   แก้วิกฤตได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาสภาฯไม่เคยรับรู้  
  3. พ.ร.ก.ฉุกเฉินปัจจุบัน ศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบ และกฎหมายเสนอนั้นให้อำนาจ ประธานสภาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน  กสม.สามารถร้องศาลปกครองว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเหตุให้ประกาศหรือไม่ 
  4. ในกฎหมายนี้หากเป็นการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง สามารถดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้   

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า หลักการเสนอกฎหมายหลักการสากล เพื่อให้ประเทศไทยนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ควบคู่กับการใช้อำนาจพิเศษ โดยหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน สส. โดยเฉพาะ สส.พรรคเพื่อไทย แม้ขณะนี้พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลแล้วจะไม่ทำให้จุดยืนเรื่องนี้เปลี่ยนไป จากที่เคยสนับสนุน  

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังมีอำนาจใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ สามารถใช้ควบคู่กับร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภาฯฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐสภาตรวจสอบความจำเป็นในการประกาศ  ซึ่งกำหนดไว้ 30 วัน และสามารถต่ออายุได้ โดยประเทศต่างๆ  ก็เป็นเช่นนี้ กรอบเวลาทำให้มั่นใจมันต่อสถานการณ์ที่จะแก้วิกฤตได้ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งเสริมให้รัฐบาลใช้อำนาจเป็นที่ยอมรับ

ส่วนนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับสำคัญ ก็หวังว่าเพื่อนสส. โดยเฉพาะ สส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีฉันทามติร่วมกันในร่างกฎหมายฉบับนี้และคาดหวังว่ากฎหมายจะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบราชการของประเทศ