ยกฟ้อง 'ชูวิทย์' คดีหมิ่นประมาท ภท. ชี้วิจารณ์นโยบายกัญชาด้วยความสุจริต
ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกฟ้องคดี 'ภูมิใจไทย' ยื่นฟ้อง 'ชูวิทย์' หมิ่นประมาท หลังโจมตี 'นโยบายกัญชา' ช่วงเลือกตั้ง 66 ชี้แสดงความเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เข้าข่ายกฎหมายเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษายกฟ้อง คดีที่พรรคภูมิใจไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท และผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จากกรณีโจมตีนโยบายกัญชา
โดยศาลเห็นว่า จำเลยมีเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และเนื้อหาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ตามเมืองใหญ่หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ย่านสุขุมวิท ถนนข้าวสาร เมืองพัทยา และภูเก็ต มีร้านจำหน่ายกัญชาเปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีข่าวปรากฏเป็นที่ทราบอยู่บ่อยครั้งว่ามีเยาวชนเสพหรือติดกัญชา
แม้ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจะเป็นการโจมตีนโยบายที่โจทก์ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งก่อนก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เพราะจำเลยกล่าวความจริง และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ทั้งเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้
ที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อธิบายว่าโจทก์มีนโยบายให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์นั้น เห็นว่า ปรากฏว่าการใช้กัญชาได้อย่างเสรีหมายความรวมถึงการใช้เพื่อสันทนาการด้วย จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายกัญชาเสรีทำให้เกิดผลดังที่จำเลยกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ส่วนความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ซึ่งตามมาตรา 73 (5) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ (5) หลอกลวงบังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง"
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความอธิบายว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำอันมีลักษณะเป็นการชักชวนผู้คนซึ่งมีสิทธิเลือกตั้ง ใช้อิทธิพลคุกคาม เนื่องจากจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพลทางด้านความคิดที่สามารถชี้นำสังคมได้ (Influencer) ใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของนายอนุทินและผู้สมัครในสังกัดของโจทก์ รวมถึงโจทก์นั้น
ศาลเห็นว่า แม้จำเลยเป็นผู้ชี้นำทางความคิดให้แก่กลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ก็ตาม แต่ตามเนื้อหาถ้อยคำตามคำฟ้อง ประกอบกับความหมายของคำว่า "คุกคาม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544หมายถึง "แสดงอำนาจด้วยกิริยาหรือวาจาให้หวาดกลัว หรือทำให้หวาดกลัว" ตามข้อเท็จจริงและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยแสดงอำนาจให้ประชาชนหวาดกลัว ทั้งไม่ปรากฏว่าประชาชนที่ไปฟังคำปราศรัยดังกล่าวเกิดความหวาดกลัวจำเลย จนต้องลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ หรืองดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครของโจทก์
การกระทำของจำเลยจึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า "ใช้อิทธิพลคุกคาม" และ "บังคับ ขู่เข็ญ" อีกทั้งไม่ถือว่าเป็นพฤติการณ์หลอกลวง หรือใส่ร้ายด้วยความเท็จ เนื่องจากศาลวินิจฉัยในตอนต้นแล้วว่าจำเลยกล่าวความจริง ส่วนการกระทำที่เป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานโจทก์ที่ชัดเจน จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 73 (5)
ส่วนข้อหาที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือ จนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 หรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อจำเลยกล่าวความจริงในคำปราศรัย จึงไม่อาจถือว่าจำเลยแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือในหมู่ประชาชน ทั้งไม่ปรากฏว่าประชาชนเกิดความตื่นตกใจประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 เช่นเดียวกัน คดีของโจทก์ไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง