‘ทักษิณ-สุเทพ-ชูวิทย์’ การเมือง3ฉาก‘แตกต่าง’แต่‘บังเอิญ’

‘ทักษิณ-สุเทพ-ชูวิทย์’  การเมือง3ฉาก‘แตกต่าง’แต่‘บังเอิญ’

เหตุการณ์เกิดในช่วงต่างกัน แต่ดันมาประจวบเหมาะ “ฤกษ์การเมือง” ในวันเดียวกัน แถมยังมี “ตัวละคร” ที่เกี่ยวโยงกัน ท่ามกลางสูตรจัดตั้งรัฐบาล "สลายสีเสื้อ" เวลานี้บอกได้เลยว่า  “ยิ่งกว่าบังเอิญ!”

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะ “บังเอิญ -โลกกลม” หรืออย่างไร เมื่อฤกษ์การเมือง22ส.ค. ดันมาประจวบเหมาะ3เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในวันเดียวกัน

เหตุการณ์แรก คือการเดินทางกลับไทยในรอบ 17ปี ของ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำความคิดกลุ่มคนเสื้อแดง 

เหตุการณ์ที่2 คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก 6 คน ในคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนและโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก 

และ เหตุการณ์ที่3 คือรัฐสภามีมติ 482 เสียง ให้ความเห็นชอบ  “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นแท่นเบอร์1ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะนายกฯคนที่30 ของประเทศไทย 

“3ฤกษ์การเมือง” ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากจะประจวบเหมาะในวันเดียวกันแล้ว ทั้ง3เหตุการณ์ยังมี“ตัวละคร” ร่วมที่เรียกว่า“ยิ่งกว่าบังเอิญ!”

ไม่ว่าจะเป็น “ทักษิณ-สุเทพ”  ต้นฉบับผู้นำความคิด ผู้บุกเบิกกลุ่มการเมือง กลุ่มหนึ่งเรียกว่า “คนเสื้อแดง” และอีกกลุ่มเรียกว่า  “กลุ่มกปปส.”  

อันที่จริงทั้ง “ทักษิณ-สุเทพ” ก็เคยเป็นมิตรรักสนามการเมืองมาก่อน  ย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยซึ่งเป็นจุดก่อนกำเนิดเมื่อ “ทักษิณ” ตัดสินใจเล่นการเมืองครั้งแรก ในตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ โควตาพรรคพลังธรรม

ส่วน “สุเทพ”  เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์พรรคปชป.

“โดยส่วนตัวมีความคุ้นเคยกับท่านสุเทพ ให้ความเคารพรักซึ่งกันและกัน ตอนที่เป็น รมว.ต่างประเทศ ท่านสุเทพเป็น รมช.เกษตรฯ ที่นั่งประชุม ครม.ก็ติดกัน แต่โดยหน้าที่การเมืองต่างคนต่างก็ทำหน้าที่กันไป” 

“ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2547 หลังร่วมงานศพ “กำนันจรัส เทือกสุบรรณ”  กำนันคนดังเมือร้อยเกาะ และเป็นบิดาของสุเทพ

‘ทักษิณ-สุเทพ-ชูวิทย์’  การเมือง3ฉาก‘แตกต่าง’แต่‘บังเอิญ’

 

ความสนิทสนมของ “ทักษิณ-สุเทพ” ว่ากันว่าช่วงหนึ่ง  “ทักษิณ” เกือบตัดสินใจเข้าพรรคประชาธิปัตย์ตามรอย “สุเทพ” เสียด้วยซ้ำไป

ขณะที่หลังรับประทานอาหารร่วมกันเสร็จ “สุเทพ” ได้ปฏิเสธเรื่องทักษิณชวนให้ย้ายไปพรรคไทยรักไทย โดยระบุว่าเป็นเรื่องของคนที่รู้จักและให้ความเคารพในทางการเมืองเท่านั้น

ทว่า หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ก็ดูจะจืดจางลงจากการเมืองที่แบ่งข้างเลือกขั้ว จนกระทั่งเป็นเส้นขนานกันมากขึ้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจบอยคอตเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 2549

และหากยังจำกันได้เมื่อช่วงปี2551 หลังจากรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” สิ้นสุดลงเพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ได้เกิดตำนานดีลลับข้ามขั้ว โดยมี “สุเทพ” เป็น “ดีลเมคเกอร์” คนสำคัญในการชวน “เนวิน ชิดชอบ”  และสส.อีกจำนวนหนึ่ง ออกจากอ้อมแขน “ทักษิณ” มาร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ดัน“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ

จนเป็นที่มาของวลี “มันจบแล้วครับนาย”

‘ทักษิณ-สุเทพ-ชูวิทย์’  การเมือง3ฉาก‘แตกต่าง’แต่‘บังเอิญ’

จากนั้น “สุเทพ” ถือเป็น “ปฏิปักษ์” ต่อระบอบทักษิณ โดยเฉพาะในปี2554 สมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”  น้องสาวทักษิณ “สุเทพ” คือผู้นำม๊อบกปปส.จนกระทั่งล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์นำมาสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่22 พ.ค.2557 ในท้ายที่สุด

การกลับไทยของ “ทักษิณ” ในรอบ 17ปี  “สุเทพ” มองว่า ตนเองกับทักษิณอายุเท่ากัน เราทำงานการเมืองเช่นเดียวกัน

“ผมไม่เคยคิดถึงคนเสื้อสีแดงหรือคนเสื้อสีส้มมันต้องเป็นศัตรูกับพวกผม ตอนที่ผมอยู่บนเวที กปปส. ก็ปราศรัยชัด ชวนทุกวัน ว่ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาประเทศ” นายสุเทพ กล่าว

ท่าทีของ"สุเทพ" ทำให้มีการจับตาไปที่บรรดาแกนนำและแนวร่วมกปปส.ที่เวลานี้กำลังร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย 

ตัดมาที่อีก1เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันเดียวกัน คือ กรณีที่ศาลฎีกา “ยกฟ้อง”  สุเทพ กับพวก 6 คน ในคดีโรงพักทดแทน ย้อนรอยปฐมบทเรื่องนี้ เกิดขึ้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

ยามนั้น “สุเทพ”  ในฐานะส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยมีตัว “ละครสำคัญ” อีกหนึ่งตัวคือ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ส.ส.พรรครักประเทศไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านในขณะนั้นที่เป็นตัวปูเรื่องเปิดฉากปฐมบททุจริตโรงพักทดแทน 

โดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เมื่อวันที่25 พ.ย. 2555  “ชูวิทย์” ได้อภิปรายถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ โดยพุ่งเป้าไปที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น 

เหตุการณ์วันดังกล่าว “ชูวิทย์”  ยังได้กล่าวถึง “ยิ่งลักษณ์” ว่าเป็น “พญาระกา” ยืนเทียบกับ “พญาอินทรี” และ “พญามังกร”ได้แล้วไม่ต้องพึ่งพา  “พญาฉลาม”(เฉลิม)อีกต่อไป

ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม โต้กลับว่า นักการเมืองกลุ่มหนึ่งส่งบริษัทของตนเข้าไปทำการประมูลรับจัดทำเพียงแค่บริษัทเดียวแต่จ้างซับคอนแทรกส์ ในการดำเนินการ ดังนั้นงานจึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบต่อไป ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการก่อสร้างแต่อย่างใด

(คลิประหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีทุจริตโรงพักทดแทนเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2555)

ทว่าเกมซักฟอก ณ วันนั้น ดัน "โอละพ่อ!" นอกเหนือจากที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปฝ่ายค้านเวลานั้น จะใช้สิทธิประท้วงฝ่ายค้านด้วยกันประเด็นพาดพิงรัฐบาลก่อนหน้าคือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในทำนอง  “มีอะไรพาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่?” แล้ว 

ทำไปทำมากลายเป็นว่า มีการสืบสาวราวเรื่อง ไปเจอต้นตอ โครงการดังกล่าวที่ดันไปเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่“สุเทพ”  เป็นรองนายกรัฐมนตรี “เกมตาลปัตร” กลายเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบฝ่ายค้านด้วยกัน 

เหตุการณ์วันนั้น นำมาสู่การส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รวบรวมหลักฐาน และส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช. )

กระทั่งปี 2561 ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหากับ “สุเทพ”  พร้อมพวกรวม6คนก่อนยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่ศาลจะยกฟ้องในเวลาต่อมา

‘ทักษิณ-สุเทพ-ชูวิทย์’  การเมือง3ฉาก‘แตกต่าง’แต่‘บังเอิญ’

นอกเหนือจากตัวละครที่ผูกโยงในเหตุการณ์การเมืองทั้ง “ทักษิณ-สุเทพ” , “ชูวิทย์-สุเทพ” แล้ว อย่างที่รู้กันว่า ยังมีเหตุการณ์และตัวละครที่ถูกผูกโยงไขว้อีกชั้น คือ “ทักษิณ-ชูวิทย์” นั่นคือ เส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯของ “เศรษฐา” สอดรับสัญญาณการเดินทางกลับของ “ทักษิณ”  ครั้งแรกในรอบ17ปี 

เห็นได้ชัดจากเกมเขย่ารายวันของ"ชูวิทย์"  ไม่ว่าจะเป็นปมคุณสมบัติของเศรษฐา กรณีซื้อขายที่ดิน หรือ สารพัด ดีลลับ-ดีลลวง เรื่อง“เพ้อเจ้อ” หรือ “มโน”  สูตรจัดตั้งรัฐบาล ที่ถูกปล่อยออกมา โดยมี “ทักษิณ” เป็นตัวละครสำคัญ 

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่ดันมาประจวบเหมาะ “ฤกษ์การเมือง” ในวันเดียวกัน แถมยังมี “ตัวละคร” ที่เกี่ยวโยงกัน

ยิ่งในยามที่การเมืองอยู่ในโหมดจับขั้วตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ชูโมเดลสลายสีเสื้อด้วยแล้ว บอกได้เลยว่าตัวละครที่ปรากฎ "3ฉาก3ตอน"   “ยิ่งกว่าบังเอิญ!” เสียอีก