มติวุฒิสภา 174:7 ป้อง 'อุปกิต' หลังถูกเรียกตัวไปดำเนินคดีอาญาในสมัยประชุม
มติ "วุฒิสภา" เสียงข้างมาก อุ้ม "อุปกิต" ไม่ส่งตัวตามหมายเรียกในระหว่างสมัยประชุม หลัง สตช. ทำหนังสือขอตัวไปดำเนินคดีอาญาเอี่ยวยาเสพติด
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณากรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสือเพื่อขออนุญาตออกหมายเรียกตัว นายอุปกิต ปาจรียางกูร สว. ไปดำเนินคดีอาญารระหว่างสมัยประชุม ในความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมและสนับสนุนความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว วุฒิสภา ได้เปิดเป็นการประชุมอย่างเปิดเผย และให้สิทธินายอุปกิต ชี้แจง รวมถึงให้ สว. อภิปรายแสดงความเห็น
โดยนายอุปกิต ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และระบุว่าก่อนที่ตนเข้ารับตำแหน่ง สว.ในปี 2562 ได้สละและนำชื่อออกจากกรรมการ หุ้นส่วน และไม่มีข้อเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทอัลลัวร์ กรุ๊ป ส่วนกรณีที่ถูกฟ้องร้องคดีนั้นเป็นการด่วนสรุป เรื่องโอนเงินชำระค่าไฟตามบิลของกฟภ. มูลค่าที่มาจากบัญชีที่ไม่ดีเป็นเพียง2–3% ของมูลค่าการซื้อขายไฟ ทั้งที่ในช่วงที่ตนเป็นตัวแทนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทย-เมียนมาร์ ซึ่งผ่านมาเกือบ 15ปี ไม่เคยมีปัญหาแม้แต่ครั้งเดียว
“ผมไม่ประสงค์จะใช้ความคุ้มครองใดๆ แต่การพิจารณาต้องเป็นไปตามมติของวุฒิสภา และต้องการพิทักษ์เกียรติประวัติของตระกูลและครอบครัว ผมแสดงเจตนาพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องรอปิดสมัยประชุมวันที่ 30ต.ค.นี้ เพราะไม่ประสงค์ให้ใครเอาไปเป็นประเด็นวิจารณ์วุฒิสภา ผมพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ผมยังมีความเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องขอความคุ้มครองใดๆ” นายอุปกิต ชี้แจงซึ่งช่วงหนึ่งได้กล่าวด้วยน้ำเสียงสะอื้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของสว. ได้เน้นการอภิปรายต่อเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ที่มีเนื้อหา ระบุว่าในระหว่างสัยประชุม ห้ามจับ คุมขัง หรือ หมายเรียกตัวสส. หรือ สว. ไปสอบสวนฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาติจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด
โดย สว.ที่อภิปราย อาทิ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม, นายจัตุรงค์ เสริมสุข, นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร ยืนยันไม่เห็นชอบที่จะลงมติให้นำตัวนายอุปกิตไปดำเนินคดีตามที่ ผบ.ตร. ทำหนังสือขออนุญาตต่อที่ประชุมวุฒิสภา เนื่องจากในหลักการของมาตรา 125 นั้น มุ่งให้ความคุ้มครองสมาชิกฐานะตัวแทนของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เป็นประเด็นเอกสิทธิแม้นายอุปกิตจะขอสละสิทธิความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ในการอภิปรายของนายวิวรรธน์ ระบุความตอนหนึ่ง ว่าการออกหมายจับนายอุปกิต มีข้อเท็จจริงว่าตำรวจบิดเบือนการออกหมายจับ โดยกรณีที่มีการออกหมายจับไปก่อนหน้านั้น แต่ภายหลังรองอธิบดีศาลอาญาตรวจสำนวนแล้วพบว่าเป็นการออกหมายจับ สว. ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้รองอธิบดีศาลอาญาจึงถอนหมายจับ
“เมื่อนายอุปกิต ชี้แจงไปแล้ว แต่ไม่ลงรายละเอียด หากพบว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ปิดเบือนออกหมายจับ ปิดบังศาล และทำให้ครอบครัว หรือตัวเองเสียหาย สว. จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดควาเสียหายหรือไม่ ดังนั้นหากจะขออนุญาตต่อวุฒิสภา ผมขอให้ตำรวจมาแสดงเหตุผลต่อในที่ประชุม และชี้แจงว่ามีพยานหลักฐานอะไร ผมจะยกมือเป็นคนแรกให้ออกหมายจับ แต่หากเป็นเอกสารเพียงแผ่นเดียว ระบุว่าเกี่ยวพันกับยาเสพติด หรือพิสูจน์ได้ว่านายอุปกิตรวจออกหมายจับหรือไม่ อย่าชี้เป็นชี้ตาย แบบนี้ไม่ถูกกต้อง หากไมมีพยานหลักฐาน พูดลอยๆ การลงคะแนนของสว. ผมขอให้อ่านมาตรา 125 ให้ดี” นายวิวรรธน์ อภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายว่า ขณะที่มี สว.บางส่วนอภิปรายสนับสนุนให้สว.ลงมติเห็นชอบ เพื่อเคารพหลักการของรัฐธรรมนูญ พร้อมกับยกตัวอย่างที่ผ่านมาในช่วงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พบว่ามี 2 สว. ถูกขอหมายไปดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุม ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมภรรยาตนเอง และ เรื่องโอนเงินสหกรณ์ ซึ่งวุฒิสภาในช่วงเวลานั้นเห็นชอบ
โดย นายอนุสิษฐ คุณากร สว. เห็นด้วยกับการอนุญาตตามที่ ผบ.ตร.ทำหนังสือเพื่อขออนุญาต เพราะหากสว.ปฏิเสธจะทำให้เกิดการวางหลักการ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 นั้นสว.ต้องถูกปฏิเสธทุกครั้ง อย่างไรก็ดีกรณีที่นายอุปกิต แสดงเหตุผลว่าต้องรักษาสิทธิ เกียรติยศของตนเองและครอบครัว แม้วาระประชุมเหลือไม่กี่วัน ตนเชื่อว่าเป็นประเด็นที่ประชาชนเห็นร่วมกันว่ากระบวนการยุติธรรมต้องตอบสนอง ทั้งฝ่ายที่กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา
หลังจากแล้วเสร็จกการอภิปราย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ฐานะประธานในที่ประชุม ประกาศให้ลงคะแนน พร้อมแจ้งว่าจะเป็นการออกเสียงโดยเปิดเผยผ่านเครื่องออกเสียงลงคะแนน สำหรับเกณฑ์การออกเสียงจะยึดเสียงข้างมากเป็นประมาณ
และผลการลงมติพบว่า เสียงข้างมาก 174 เสียงไม่เห็นด้วยกับการออกหมายเรียกตัวนายอุปกิตไปสอบสวนฐานะผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม ต่อ 7 เสียง และมีสว.ที่งดออกเสียง10เสียง.