'ปธ.กมธ.ตำรวจ' จี้ นายกฯ เคลียร์ปมศาลปกครอง ถอนประกาศตร. 'ใบสั่ง' ย้อนหลัง
"ประธานกมธ.ตำรวจ" จี้ "เศรษฐา" เร่งเคลียร์ปม หลังศาลปกครอง สั่งเพิกถอนประกาศตร. "ใบสั่ง-ค่าปรับ" ย้อนหลังถึงปี 2563 ชี้บทเรียนออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2443/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563 ซึ่งเป็นคดีที่ นางสุภา โชติงาม ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ในฐานะผู้ฟ้องคดี ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลปกครองฯ ให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ตำรวจและประชาชนต่างมีข้อสงสัย เนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา นั้น การลงโทษผู้กระทำความผิดได้ จะต้องปราศจากข้อสงสัย
แต่ปรากฏว่ารูปแบบใบสั่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตาม ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 ได้ตัดสาระสำคัญในส่วนของการปฏิเสธการกระทำความผิดตามใบสั่ง บันทึกของผู้ต้องหา และบันทึกของพนักงานสอบสวน กำหนดไว้เพียงวิธีการชำระค่าปรับด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจว่า ตนมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับเท่านั้น ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญทางอาญา และขัดต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ
จึงเป็นการออกกฎที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการพิจารณาโทษตามข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำ
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการเสนอกฎหมายเชื่อมโยงการชำระค่าปรับ กับการชำระภาษีรถประจำปี โดยหากเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับ เมื่อไปชำระภาษีประจำปีจะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อพ้น 30 วัน หากไม่ชำระค่าปรับและนำรถไปใช้ ก็จะมีความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้ โดยหลักการการชำระภาษีรถเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ
แต่การกระทำผิดจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำ 2 เรื่องมาเชื่อมโยงกันจึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับ อีกทั้ง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดค่าปรับจำนวนแน่นอน
จึงเป็นการตัดอำนาจดุลพินิจของเจ้าพนักงานจราจรที่จะพิจารณากำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ต้องเปรียบเทียบปรับตามอัตราที่ประกาศกำหนดเท่านั้น
จึงขัดต่อความมุ่งหมายของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่มีเจตนารมณ์ เพื่อควบคุมกำกับการใช้รถให้เกิดความปลอดภัย ส่งเสริมวินัยจราจร และให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดตามพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดด้วยความเสมอภาค
“เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากทราบว่า ภายหลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาฯ แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในฐานะผู้เสียหายโดยตรง จะต้องดำเนินการอย่างไร หากมีใบสั่งจราจรที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่ ยังต้องชำระหรือไม่อย่างไร แล้วหากประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาชนยังต้องชำระหรือไม่ แล้วที่ชำระไปแล้วต้องทำอย่างไร ซึ่งคำพิพากษาได้ให้มีผลไปตั้งแต่ปี 2563 นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนสงสัย นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแนวทางป้องกันและจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร รวมถึงจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้มีการออกกฎเกณฑ์ คำสั่งต่างๆ ที่กระทบต่อประชาชน แต่สุดท้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นายชัยชนะกล่าว