มท.1 นำถกผู้บริหารระดับสูงรับมอบนโยบาย ย้ำคน มท.ต้องรอบรู้-แอคทีฟตลอดเวลา
มท.1 นำผู้บริหารระดับสูง มท. ถกหารือข้อราชการสำคัญ เน้นย้ำ คนมหาดไทยต้องมีความรอบรู้และ Active ทางความคิดตลอดเวลา เพื่อสามารถใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566) ที่ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย มีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมมอบนโยบาย มีนายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส นายสมคิด จันทมฤก นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับนโยบาย
นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงมหาดไทยร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ทั้งฝ่ายข้าราชการการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเป็นครั้งแรก และในแต่ละเดือนจะมีการประชุมหารือข้อราชการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามและกำกับการปฏิบัติภารกิจในระดับพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยในการประชุมวันนี้มีข้อราชการสำคัญที่ร่วมหารือ ได้แก่
1) การจัดงาน “วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2566 ซึ่งได้แจ้งทุกจังหวัดหลอมรวมพลังความรักความสามัคคีจัดกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพร้อมเพรียงกัน พร้อมทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมจัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลและพิธีวางพวงมาลา ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2566 ตามรูปแบบที่กำหนด และการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล อาทิ การปรับภูมิทัศน์สถานที่สำคัญ การพัฒนาแหล่งน้ำ คู คลอง ตามที่จังหวัดพิจารณาเห็นสมควรและเหมาะสม พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีและกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน และเชิญชวนผู้ร่วมพิธี/ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันสวมใส่ชุดผ้าไทยหรือชุดสุภาพโทนสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ
2) การแก้ไขปัญหาอุทกภัย ขอให้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจังหวัดที่มีความเสี่ยงให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
3) การเตรียมการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงานและงบประมาณ ต้องเตรียมการให้พร้อม ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรวดเร็วและเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
4) ต้องติดตามและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมอาวุธปืน สิ่งเทียมปืนและเครื่องกระสุนที่ได้กำชับแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
5) การดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวและเตรียมความพร้อมสำหรับช่วง High Season ที่กำลังจะมาถึง
6) การนำนโยบาย Soft Power และต่อยอด OTOP ของจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านส่งเสริมการตลาดและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน
7) การเตรียมความพร้อมรับนโยบายของรัฐบาลในการขยายเวลาเปิดสถานบริการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมดูแลมาตรการความปลอดภัย และการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน
“ขอให้ผู้บริหารทุกท่านได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนไปพร้อมกัน ซึ่งแม้ว่าในช่วงเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล สถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ รวมถึงสงครามของต่างประเทศที่สร้างความรุนแรงในประเทศอิสราเอล ก็ทำให้แรงงานชาวไทยต้องกลายเป็นเหยื่อไปด้วย ซึ่งภารกิจที่ต้องดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ทำให้เราต้องติดตามและมีข้อมูลพื้นฐานในทุกเรื่อง แม้ในเรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง และขอให้นำแต่ละเหตุการณ์มาวิเคราะห์ปัญหาและความเชื่อมโยง เพื่อทุกท่านจะได้มุ่งมั่นทำหน้าที่ในฐานะกลไกกระทรวงมหาดไทยว่าจะสามารถมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันเหตุ การสร้างความเข้าใจกับประชาชน หรือการบรรเทาทุกข์ที่ต้องทำอย่างเต็มที่ เช่น กรณีกราดยิงที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธแล้ว เราควรต้องบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิต และการสังเกตพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ ของคนในชุมชน ก็จะเป็นการช่วยป้องกันปัญหาในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง พร้อมเน้นย้ำว่าผู้บริหารและบุคลากรของกระทรวงมหาดไทย ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จะต้องมีความรอบรู้และ Active ทางความคิดตลอดเวลา เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีที่มีในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนนายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ในด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติควรจะมีระบบการรายงานความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้พื้นที่ที่มีปัญหาท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้หารือแนวทางการขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งพร้อมแลกมวลดินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงแนวทางอื่น ๆ ที่จะช่วยแก้ไข้ปัญหาโดยไม่ใช้งบประมาณภาครัฐ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน
ขณะที่นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2533 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ความว่า “.. เราควรพิจารณาว่า ถ้าสามารถที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วม สกัดไว้ไม่ให้ลงมาท่วม ก็จะบรรเทาการท่วมและลดความเสียหาย ฉะนั้นการหาทางที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วมเอาไว้ได้ สำหรับให้เป็นน้ำที่ให้คุณที่ช่วยให้มีรายได้ ก็จะเป็นการดีเป็นทวีคูณ.. ..การที่จะทำโครงการที่แยบคาย เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายในการท่วมนั้น และเพิ่มพูนผลิตผลในหน้าแล้ง ก็ได้ผลสองเท่าตัว คือไม่ต้องใช้เงินแก้ไข หรือบรรเทาทุกข์ของประชาชน ซ้ำจะได้ให้ประชาชนทำกินได้ เพิ่มพูนขึ้นไปเกือบสองเท่า..” อันหมายความว่า เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยหรือเวลามีน้ำมาก เราแก้ปัญหาโดยการเร่งระบายน้ำออก แต่พอน้ำหายท่วมหรือน้ำแล้ง เราไม่มีน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภคและทำการเกษตร ดังนั้น หากเรามีที่ให้น้ำอยู่หรือมีที่กักเก็บน้ำ เราก็จะได้ประโยชน์ 2 ต่อ จึงเป็นที่มาของทฤษฎีใหม่ที่มีการจัดสรรพื้นที่โดยมีแหล่งน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า เราต้องหาที่อยู่ให้น้ำ ทำให้น้ำมีที่ไป ช่วยบรรเทาการเกิดน้ำท่วม และใช้แหล่งน้ำมาทำประโยชน์ในการทำมาหากิน หรืออีกนัยหนึ่งยังมีความหมายอีกว่าเขื่อนและแหล่งกักเก็บน้ำที่เรามีอาจยังจุน้ำได้ไม่มากพอ ดังนั้น ต้องขุดให้มีความลึกลงไปอีก ขุดเอาน้ำแลกดิน ทำสันเขื่อน สันฝายที่สูงขึ้น และไม่ได้เป็นเพียง Express Way เพื่อระบายน้ำลงอ่าวไทยเท่านั้น ต้องเพิ่มพื้นที่ท้องอ่าง เพิ่มทุ่งกักเก็บน้ำและชะลอน้ำ โดยน้อมนำแนวพระราชดำรัสข้างต้นมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน เราทุกคนก็จะได้ประโยชน์ ตลอดจนยังช่วยลดความขัดแย้งในการต้องการใช้น้ำของพี่น้องประชาชนด้วย
"นับเป็นความโชคดีของคนไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นในการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" และทรงอรรถาธิบายในเรื่อง "อารยเกษตร" กล่าวคือ คนไทยมีอาชีพเกษตรกร ซึ่งเราทำการเกษตร 365 วัน หรือทั้งปี แต่ประเทศไทยมีฤดูฝนเพียง 120 วัน (4 เดือน) ด้วยเหตุนี้ในช่วงวันที่เหลือนอกจากฤดูฝน เราจึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนถึงมีเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพและการทำเกษตรกรรม โดยนำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ ปลูกไม้ยืนต้น เพิ่มพื้นที่ป่าตามศาสตร์พระราชา ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกับทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และได้เน้นย้ำกลไกการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งความสุข ที่พี่น้องประชาชนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี อันจะยังประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้มีความสุขอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว