มท. ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม กำชับเร่งช่วยเหลือดูแล ปชช. เต็มกำลัง
รมว.มหาดไทย ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วม กำชับทุกจังหวัดเร่งช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลัง
วันนี้ (2 ต.ค. 66) ที่ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และจังหวัด 62 จังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยได้สั่งการเน้นย้ำให้บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยและดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการติดตามการเตรียมการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน ถนนถูกตัดขาดหลายจุด ส่งผลกระทบทั้งด้านคมนาคมและการดำรงชีพของประชาชน
ทั้งนี้ ยังถือว่าเป็นช่วงที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านปริมาณฝน พายุ และปริมาณน้ำที่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกัน บรรเทา และดูแลปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างเต็มกำลัง โดยได้สั่งการเน้นย้ำให้บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยและดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง จึงขอให้จังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1) ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในด้านต่างๆ โดยด้านการบริหารจัดการน้ำให้ร่วมกับกรมชลประทาน จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการจราจรน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ด้านการแจ้งเตือนภัยให้ร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยประชาสัมพันธ์เร่งในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2) การให้ความช่วยเหลือประชาชน ให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการดูแลด้านที่พักอาศัย การกำจัดขยะที่มากับน้ำ การดูแลด้านการดำรงชีพของผู้ประสบภัย การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การดูแลด้านสุขภาพอนามัย การประกอบอาหารเลี้ยง และการดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนทั้งในบริเวณจุดอพยพและศูนย์พักพิงชั่วคราว รวมถึงให้จัดชุดปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยในเขตชุมชนเมืองที่น้ำท่วมขัง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน ตลอดโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย และให้หน่วยงานด้านคมนาคมเร่งตรวจสอบเส้นทางคมนาคมที่ได้รับผลกระทบให้มีการติดตั้งป้ายเตือน อุปกรณ์และสัญญาณไฟ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรของประชาชนในช่วงที่มีสถานการณ์อุทกภัย อีกทั้งให้ดูแลสถานที่สำคัญ อาทิ สถานพยาบาล โรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต.) โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการไปยังอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลสถานที่ดังกล่าว
3) จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ขอให้เร่งสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่พักอาศัย พื้นที่การเกษต รและสิ่งสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ โดยขอเน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน ฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ หน่วยทหาร อาสาสมัคร ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูความเสียหายด้านต่าง ๆ ให้ฟื้นกลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว ซึ่งได้กำชับให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยให้ยึดถือปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเคร่งครัด โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็และทั่วถึง
“ผู้ว่าราชการจังหวัดถือเป็นศูนย์กลางในการประสานงานแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะด้านสาธารณภัย การประชุม ในวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมในการสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัยทุกจังหวัด หากจังหวัดใดจำเป็นที่จะต้องขอรับการสนับสนุนในด้านใด ขอให้ประสานมายังส่วนกลางผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อจะได้สนับสนุนและเสริมกำลังในการดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” มท.1 กล่าวเพิ่มเติม
นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย และการสนับสนุนการทำงานของทุกจังหวัด โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหน่วยงานด้านพยากรณ์และหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ในส่วนการเตรียมการเผชิญเหตุ ปภ. ได้ประสานจังหวัดทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์น้ำของจังหวัด
ทั้งนี้ ได้จัดส่งเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำรถสูบส่งน้ำระยะไกล เรือท้องแบน รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถประกอบอาหาร รถผลิตน้ำดื่ม สนับสนุนการป้องกัน แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ว ส่วนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำจุดไว้ล่วงหน้าประจำ เพื่อให้การสนับสนุนการเตรียมการเผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 18.00 น. ยังคงมีน้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี รวม 25 อำเภอ 103 ตำบล 492 หมู่บ้าน ประชานได้รับผลกระทบ 15,963 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่กาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่ง ปภ. โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทาง Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป