ปม‘ปดิพัทธ์ ‘ ยื้อ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จับตา‘ก้าวไกล’ สะดุดขาตัวเอง?

ปม‘ปดิพัทธ์ ‘ ยื้อ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จับตา‘ก้าวไกล’ สะดุดขาตัวเอง?

ตั้ง "ผู้นำฝ่ายค้านฯ" ยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังรอขั้นตอนของ "กกต." ขณะรอนั้น พบปัจจัยแทรกซ้อน ถูกยื่นสอบ กรณีขับ "ปดิพัทธ์" พ้นพรรค ที่ส่อกระทบ บันไดสู่ "ฝ่ายค้านของประชาชน"

การแต่งตั้ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ตามรัฐธรรมนูญ ยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่า “พรรคก้าวไกล” จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ คือ “ชัยธวัช ตุลาธน” สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่สอง แทน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อลำดับแรก ซึ่งถูกพิจารณาปมคุณสมบัติที่เป็นปัญหา โดย “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ขณะนี้ระยะเวลาผ่านไป 19 วัน ทว่าชื่อของ “ชัยธวัช” ยังไม่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรอง และส่งต่อมายัง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ให้ดำเนินการทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง

แม้รัฐธรรมนูญ ไม่กำหนดระยะเวลาว่า ผู้นำฝ่ายค้านฯ ต้องมีตัวตนเมื่อไร แต่หากปล่อยให้เนิ่นช้า ในทางการเมือง “ก้าวไกล” คือผู้เสียประโยชน์ ไม่สามารถก้าวย่างสู่บทบาททางการ ในฐานะ “ฝ่ายค้านของประชาชน” ได้

ต่อเรื่องนี้ มีสิ่งต้องพิจารณาคือ การทำงานของ “กกต.” จะรับรอง “ชัยธวัช”เป็นหัวหน้าพรรค และรับรองกรรมการบริหารชุดใหม่ ตามมติที่ประชุมพรรคก้าวไกล 23 ก.ย. เมื่อใด

ปม‘ปดิพัทธ์ ‘ ยื้อ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จับตา‘ก้าวไกล’ สะดุดขาตัวเอง?

ตามปกติแล้ว ต้องพิจารณาเอกสารการประชุม บันทึกการประชุม รวมถึงผลการลงมติเลือก กก.บห.ก้าวไกล ว่าเป็นระเบียบ กกต.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ก่อนรับรอง และส่งเรื่องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ที่ก้าวไกลคาดหวังว่าจะไม่พลาดเก้าอี้นี้ ยังมีปมต้องพิจารณา-ปลดล็อก ซึ่งขึ้นอยู่กับ กกต.เช่นกัน

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดเงื่อนไขผูกโยงกันว่า ผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็น สส.ที่มีตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่มีจำนวน สส.มากที่สุด และไม่มีสมาชิกดำรงตำแหน่ง “รองประธานสภาฯ”

เงื่อนไขนี้ แม้ก้าวไกลจะปลดล็อก ด้วยการขับ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” พ้นสมาชิกพรรคเมื่อ 28 ก.ย. แต่ขั้นตอนต้องรอ กกต.รับรองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถือเป็นใบอนุญาตให้ “ปดิพัทธ์” หาสังกัดใหม่ได้

แม้ “ปดิพัทธ์” จะเปิดตัวเข้าสังกัด “พรรคเป็นธรรม” แต่ขณะนี้ยังไม่ยื่นใบสมัครเข้าพรรคเป็นทางการ จึงเท่ากับว่า สถานะของผู้นำฝ่ายค้านยังต้องรอไปจนกว่าปดิพัทธ์จะจรดปากกา และกรรมการบริหารพรรคเป็นธรรมลงมติรับเข้าพรรคตามกฎหมาย

ปม‘ปดิพัทธ์ ‘ ยื้อ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จับตา‘ก้าวไกล’ สะดุดขาตัวเอง?

ขณะนี้ก็ยังไม่ทราบกำหนดเวลาเข้าสังกัดพรรคเป็นธรรมที่แน่ชัด

ดังนั้น แม้ว่า กกต.จะรับรอง “ชัยธวัช” เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลแล้ว ใช่ว่าจะได้รับการทูลเกล้าฯ เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้โดยอัตโนมัติ เพราะยังติดเงื่อนไขการดำรงอยู่ของ “ปดิพัทธ์”

ที่ฝ่ายกฎหมายสภาฯ มองว่า ต้องรอจนกว่าปดิพัทธ์ได้สังกัดพรรคใหม่อย่างเป็นทางการ

 

ขณะเดียวกันนั้น ยังมีปมแทรกซ้อน คือการตรวจสอบพรรคก้าวไกลที่ขับ “ปดิพัทธ์” พ้นพรรคว่า เป็นไปตามข้อบังคับพรรคหรือไม่?

หลัง “ศรีสุวรรณ จรรยา” นักเคลื่อนไหวยื่น กกต.ให้พิจารณา เพราะมองว่าเป็นความฉ้อฉลของ “ก้าวไกล-ปดิพัทธ์” ที่เอื้อประโยชน์ หรือการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และตำแหน่ง ซึ่งขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 46 มีบทลงโทษ “ยุบพรรค” และ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหาร

ปม‘ปดิพัทธ์ ‘ ยื้อ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จับตา‘ก้าวไกล’ สะดุดขาตัวเอง? สำทับกับคำแถลงการณ์พรรคก้าวไกล ระบุแค่ว่าที่ประชุม กรรมการบริหารพรรค และ สส. เห็นพ้อง ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ และพรรคก้าวไกลจำเป็นต้องให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ตามบทบัญญัติแห่งข้อบังคับพรรคก้าวไกลและรัฐธรรมนูญ

โดยไม่ระบุรายละเอียดที่สำคัญตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล ซึ่งยึดถือปฏิบัติมา กรณีจะขับ สส.คนใดพ้นจากสมาชิกพรรค คือ “กระบวนการตรวจสอบทางวินัย” และใช้มติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและสส. เทียบเคียงกับการขับ 4 สส. เมื่อครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่พบการลงและแจ้งมติอย่างชัดแจ้ง

ต่อเรื่องนี้ วงในของพรรคก้าวไกลยอมรับว่าการขับ “ปดิพัทธ์” ให้ออกจากพรรค ไม่ผ่านกระบวนการของกรรมการวินัย ซึ่งตามข้อบังคับการจะขับใครพ้นพรรค ต้องมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย “ทำผิดวินัยอย่างชัดเจน” และถูกตรวจสอบก่อนจะส่งให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และ สส.พิจารณาลงมติ

“การขับปดิพัทธ์ให้ออกจากสมาชิกพรรค ถือว่าไม่มีประเด็นทำผิดวินัย เพราะไม่ผ่านกระบวนการของคณะกรรมการวินัย ส่วนการพูดคุยเรื่องนี้ พบว่าเป็นการปรึกษาหารือระหว่างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และปดิพัทธ์เท่านั้น โดยเห็นช่องทางที่สามารถเป็นไปได้ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ว่าด้วยการพ้นจากสมาชิกพรรคที่สังกัด ตามมติของกรรมการบริหารและ สส. ด้วยคะแนน ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 โดยเป็นสิทธิของ สส.ที่เลือกใช้เป็นทางออกตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้” วงในของพรรคก้าวไกลย้อนความ

แม้การยื่นเรื่องตรวจสอบการกระทำของพรรคการเมือง จะไม่ถูกกำหนดไว้ในขั้นตอนพิจารณาของ กกต. ที่จะรับรอง “กรรมการบริหารพรรค” ชุดใหม่ หรือรับรองการขับ “ปดิพัทธ์” พ้นสมาชิกพรรค เพราะเป็นคนละกระบวนการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลเกี่ยวโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ จำเป็นต้องเคลียร์ให้ชัดเจนกรณีที่มีผู้ร้องเรียน โดยเฉพาะ “ประเด็นขับสมาชิกพ้นพรรค”

ดังนั้นเมื่อประเด็น “ปดิพัทธ์” ยังไม่เคลียร์ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

ในขั้นตอนทูลเกล้าฯแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “วันนอร์” ทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ แต่ต้องหลังจากได้คำรับรอง จาก กกต.ใน 2 กรณี ทั้ง “กรรมการบริหารใหม่” และ “ขับสมาชิกพ้นพรรค”

ปม‘ปดิพัทธ์ ‘ ยื้อ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จับตา‘ก้าวไกล’ สะดุดขาตัวเอง? หากมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งยังถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะ ปมปดิพัทธ์ อาจทำให้การตั้งผู้นำฝ่ายค้านต้องชะลอออกไป โดยประเด็นนี้ “ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ” ตั้งข้อสังเกตว่า “ควรทำให้เคลียร์คัตชัดแจ้งก่อนหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นเชื่อมโยงกัน และเกี่ยวกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ”

จังหวะนี้เป็นไปได้ว่า ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอาจถูกทอดเวลา “เว้นว่าง” เนื่องจากปมที่ “ก้าวไกล” ผูกไว้เอง.