'ธนกร' ลั่น รทสช.ขวางร่างนิรโทษกรรม 'ก้าวไกล' ชี้ต้องไม่รวมคดี ม.112

'ธนกร' ลั่น รทสช.ขวางร่างนิรโทษกรรม 'ก้าวไกล' ชี้ต้องไม่รวมคดี ม.112

'ธนกร' ลั่น รทสช.ขวางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ 'ก้าวไกล' ชี้ต้องไม่รวมคดี ม.112 ซัดเป็นนิติกรรมอำพราง แอบอ้างประชาชน

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2566 นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า เมื่อไปดูหลักการและเหตุผลในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า การให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่ได้กระทำความผิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง มีการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนมีการกระทำอื่นใดทั้งทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงปี 2549 การยึดอำนาจรัฐปี 2549 และปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน นำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมากนั้น

"มองว่า ที่ผ่านมาทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ต่างเคารพกฎหมาย ยอมรับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ หากจะย้อนหลังกฎหมายต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างกว้างขวางให้มากพอสมควร เพราะเกรงว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว อาจเกิดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย ถือเป็นความละเอียดอ่อนของกระบวนการหากไม่รอบคอบอาจส่งผลกระทบได้" นายชัยธวัช กล่าว

เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายกังวลถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของพรรคก้าวไกล อาจจะมีการรวมเอาคดีมาตรา 112 อยู่ด้วยหรือไม่นั้น นายธนกร กล่าวว่า พรรคก้าวไกล ต้องชี้แจงสังคมให้ชัดเจนถึงประเด็นนี้ว่าวัตถุประสงค์ของการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มาจากสาเหตุใด ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล รวมถึง ส.ส.หลายคนของพรรคก้าวไกลเองเป็นผู้กระทำผิดในมาตราดังกล่าวก็ตาม ตนมองว่า มาตราดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับคดีความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐและการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเรียกร้องให้นายชัยธวัชและพรรคก้าวไกล ต้องชี้แจงประชาชนในเรื่องนี้ให้ชัดเจน อย่าทำ ”นิติกรรมอำพราง” แสร้งทำเป็นต้องการให้เกิดความปรองดองกับทุกฝ่ายการเมือง แต่เจตนานิรโทษกรรมคดีให้กับพวกพ้องหรือไม่

“หากไม่ชี้แจงให้ชัด จะกลายเป็นว่าพรรคก้าวไกลเอาแต่อ้างประชาชน แต่กลับเสนอกฎหมายเพื่อเอื้อพวกพ้อง ทำนิติกรรมอำพรางเสียเอง เมื่อไม่ได้ตามที่เสนอ ก็กล่าวหากระบวนการยุติธรรมว่าเป็น “นิติสงคราม” อีก จะยิ่งสร้างความขัดแย้งแตกแยกทางความคิด ความเชื่อมั่นต่อการบังคับใช้กฎหมายให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น ผมขอให้คิดอย่างรอบคอบ” นายธนกร กล่าว